คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9609/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระเป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายน้ำเยื่อกระดาษผ่านทางท่อที่ลูกหนี้จำหน่ายให้แก่ลูกค้า โดยมีวิธีการส่งน้ำเยื่อกระดาษผ่านท่อซึ่งมีมิเตอร์วัดปริมาณตลอด 24 ชั่วโมง และส่งมอบแก่ลูกค้ารายเดียว จึงสามารถกำหนดปริมาณได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบกันปริมาณเท่าใดเมื่อใด เทียบเคียงได้กับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแก่สายการบินซึ่งจะทราบปริมาณการส่งมอบได้ในแต่ละครั้งที่เติมและเจ้าหนี้อนุโลมให้ออกใบกำกับภาษีได้ครั้งเดียวใน 1 วัน แตกต่างจากการขายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณูปโภค มีลูกค้าหลายรายและเป็นจำนวนมาก ไม่แน่นอนว่าลูกค้าแต่ละรายจะบริโภคปริมาณมากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน จึงไม่สามารถกำหนดจุดส่งมอบได้แน่นอน ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78 มิใช่กรณีที่ลูกหนี้และลูกค้าไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใดอันจะมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าเมื่อได้รับชำระราคาสินค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78/3 (1) และข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในบางกรณี ฉะนั้น เมื่อมีแนวปฏิบัติเป็นการภายในของเจ้าหนี้ที่อนุโลมให้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งเดียวใน 1 วัน จึงเป็นธรรมและเหมาะสมแล้วแม้การมีมิเตอร์วัดปริมาณที่ท่อส่งน้ำเยื่อกระดาษและการขายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายเดียวจะมิใช่เหตุผลที่จะนำมาพิจารณาว่า สามารถกำหนดจุดส่งมอบได้แน่นอน หรือมิใช่การขายสินค้าในลักษณะเดียวกับกระแสไฟฟ้าหรือน้ำประปา แต่เมื่อนำเหตุทั้งสองมาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความก็สามารถกำหนดจุดส่งมอบและชี้ให้เห็นข้อแตกต่างในเรื่องลักษณะของการขายสินค้าว่าจัดอยู่ในประเภทใดได้แน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งนายสุรพงษ์เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลแพ่งสั่งให้โอนคดีมาพิจารณาต่อที่ศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยมีบริษัทสยามมั่น จำกัด เป็นผู้บริหารแผนคนที่ 1 มีอำนาจเพียงผู้เดียวในการกระทำการเกี่ยวเนื่องด้วยการดำเนินคดี และบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนคนที่ 2 มีอำนาจกระทำการเกี่ยวเนื่องด้วยธุรกรรมด้านการเงินของลูกหนี้เท่านั้น
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติม ในมูลหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงิน 115,800,662.99 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 58,036,081.32 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 98,632,062.72 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากต้นเงิน 39,686,887.74 บาท นับถัดวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้บริหารแผนคนที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้ยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม… ขอให้แก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ชอบแล้ว จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้บริหารแผนคนที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนคนที่ 1 ว่า คำสั่งยกคำร้องคัดค้านของศาลล้มละลายกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระเป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายน้ำเยื่อกระดาษผ่านทางท่อที่ลูกหนี้จำหน่ายให้แก่ลูกค้า โดยมีวิธีการส่งน้ำเยื่อกระดาษผ่านท่อซึ่งมีมิเตอร์วัดปริมาณตลอด 24 ชั่วโมง และส่งมอบแก่ลูกค้ารายเดียว จึงสามารถกำหนดปริมาณได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบกันปริมาณเท่าใดเมื่อใด เทียบเคียบได้กับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแก่สายการบินซึ่งจะทราบปริมาณการส่งมอบได้ในแต่ละครั้งที่เติม และเจ้าหนี้อนุโลมให้ออกใบกำกับภาษีได้ครั้งเดียวใน 1 วัน แตกต่างจากการขายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณูปโภค มีลูกค้าหลายรายและเป็นจำนวนมาก ไม่แน่นอนว่าลูกค้าแต่ระรายจะบริโภคปริมาณมากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน จึงไม่สามารถกำหนดจุดส่งมอบได้แน่นอน ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อตาม ป. รัษฎากร มาตรา 78 มิใช่กรณีที่ลูกหนี้และลูกค้าไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใดอันจะมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าเมื่อได้รับชำระราคาสินค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/3 (1) และข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในบางกรณี ฉะนั้นเมื่อมีแนวปฏิบัติเป็นการภายในของเจ้าหนี้ที่อนุโลมให้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งเดียวใน 1 วัน จึงเป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว และแม้การมีมิเตอร์วัดปริมาณที่ท่อส่งน้ำเยื่อกระดาษและการขายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายเดียว มิใช่เหตุผลที่จะนำมาพิจารณาว่า สามารถกำหนดจุดส่งมอบได้แน่นอน หรือมิใช่การขายสินค้าในลักษณะเดียวกับกระแสไฟฟ้าหรือน้ำประปานั้น ดังที่ผู้บริหารแผนคนที่ 1 อุทธรณ์ แต่เมื่อนำเหตุทั้งสองมาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความก็สามารถกำหนดจุดส่งมอบและชี้ให้เห็นข้อแตกต่างในเรื่องลักษณะของการขายสินค้าว่าจัดอยู่ในประเภทใดได้แน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share