แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52บัญญัติให้จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อจำเลยได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนต่อโจทก์ภายในกำหนดแล้วจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องจัดส่งอุทธรณ์ของจำเลยไปยัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และถือได้ว่า จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยชอบแล้ว การที่โจทก์นำคดี มาฟ้องโดยมิได้นำอุทธรณ์ของจำเลยเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์พิจารณาเสียก่อน เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนในการ พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 52โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนตามที่ได้รับอนุญาตโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารนั้นมากเพราะอาคารส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงให้ผิดไปจากแบบนั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดทำให้มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในอาคารดังกล่าวหรืออาคารข้างเคียงโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและมีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามแบบให้จำเลยยื่นแบบขออนุญาตภายใน 30 วันแต่จำเลยไม่ได้ระงับการก่อสร้างและไม่ได้ยื่นแบบขออนุญาตต่อโจทก์โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน30 วัน ครบกำหนดจำเลยไม่รื้อถอนและไม่อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตหากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคารให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามมาตรา 40, 41, 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้กระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะจำเลยก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักต่อตัวอาคารจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งโดยมีหนังสือถึงคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อุทธรณ์ของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยมิได้ก่อสร้างต่อเติมฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมีสิทธิยื่นขอรับใบอนุญาตได้อีก เพราะการก่อสร้างของจำเลยไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อาคารที่ก่อสร้างแข็งแรงมั่นคงตามหลักวิศวกรรมศาสตร์และวิชาช่างไม่มีสภาพใดจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในอาคารหรืออาคารข้างเคียง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายนับแต่วันที่มีคำสั่งระงับการก่อสร้าง โจทก์ฟ้องเกิน1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 1/1ซอยอาคารพิบูลย์วัฒนา ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงผิดแบบด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือให้มีระยะรอบตัวอาคารห่างจากเขตที่ดินเป็นระยะ 3 เมตร รื้อกันสาดของอาคารชั้นที่ 1 และที่ 2ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกออกทั้งหมดตามแบบ รื้อถอนพื้นอาคารชั้นที่ 2 ให้เหลือความสูงระหว่างพื้นชั้นล่างถึงพื้นชั้นที่ 2 เป็น 2.80 เมตร ตามแบบ รื้อถอนพื้นอาคารชั้นที่ 3ให้เหลือความสูงระหว่างพื้นอาคารชั้นที่ 2 ถึงพื้นชั้นที่ 3เป็น 2.60 เมตร ตามแบบ ลดระดับฝ้าเพดานลงมาเหลือความสูงระหว่างพื้นชั้นที่ 3 ถึงฝ้าเพดานเป็น 2.60 เมตร ตามแบบรื้อถอนหลังคาและลดระดับความสูงลงมาให้เหลือ 3.70 เมตร ตามแบบหากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามมาตรา 40, 41, 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบตามมาตรา 42 และมาตรา 43 วรรคสามเลขที่ กท.9012/ย.896 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2530 เอกสารหมาย จ.16โจทก์ปิดคำสั่งดังกล่าว ณ อาคารพิพาทให้จำเลยทราบวันที่ 16 ธันวาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงวันที่ 9 มกราคม2531 ตามเอกสารหมาย ล.2 ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ส่วนการที่จำเลยยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนต่อโจทก์เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นต้องจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในภายหลังโดยทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่จำเลยยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนต่อโจทก์เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง ต้องถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยชอบแล้วเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 52 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเสียแล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง