คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่วัดได้ยินยอมให้มีการขยายเขตถนนเดิมซึ่งได้ใช้เป็นทางหลวงอยู่แล้วเข้าไปในที่วัด และเมื่อทางหลวงนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กรณีจึงเป็นว่า วัดได้อุทิศที่ดินส่วนนี้โดยปริยาย ให้เป็นทางหลวง
การอุทิศของวัดเช่นนี้มิได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มาตรา 41 เพราะกรณีเช่นนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายนั้นระบุไว้ ฉะนั้น การที่จำเลยปลูกปักอาคารลงในเขตทางหลวงโดยมิได้รับอนุญาต ก็ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2501 ถึง กันยายน 2501จำเลยทุกสำนวนบังอาจปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นอาคารถาวรลงในเขตทางหลวงแผ่นดินสายตรัง – ปะเหลียน ตรงหลักกิโลเมตรที่ 20-21เป็นเนื้อที่ห้องละ 35.00 ตารางเมตร โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2484 (ที่ถูก 2482) มาตรา 4, 5, 28, 40 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497มาตรา 9

จำเลยทั้ง 12 คน ให้การปฏิเสธต้องกันว่า จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านเรือนมาช้านานหลายปีแล้วคดีของโจทก์ขาดอายุความ ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านเรือนนี้เป็นที่ดินของวัดนิกรรังสฤษดิ์มาช้านานก่อนสร้างทางหลวงสายนี้ จำเลยได้เช่าจากวัดมาปลูกสร้าง หาใช่ปลูกในเขตทางหลวงแผ่นดินไม่ ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้นจะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 84)ตอนนี้ยังมิได้โอน จึงยังเป็นที่วัดอยู่

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ห้องแถวของจำเลยอยู่ในที่ดินของวัด ซึ่งถูกขยายเป็นถนนหลวง แต่ยังมิได้โอนไปตามพระราชบัญญัติพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้ง 12 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยทั้ง 12 สำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 มาตรา 28 และแก้ไขฉบับที่ 2พ.ศ. 2497 มาตรา 9 ให้ปรับจำเลยคนละ 200 บาท

จำเลยทั้ง 12 สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่เห็นว่า จริงอยู่ได้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2484 มาตรา 41 บัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ แต่ในคดีนี้ วัดได้ยินยอมให้มีการขยายเขตถนนเดิมซึ่งได้ใช้เป็นทางหลวงอยู่แล้วเข้าไปในที่วัด และเมื่อทางหลวงนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) กรณีจึงเป็นว่าวัดได้อุทิศที่ดินส่วนนี้โดยปริยายให้เป็นทางหลวง และศาลฎีกาเห็นว่า การอุทิศเช่นนี้มีได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 เพราะกรณีเช่นนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายนั้นระบุไว้

เมื่อเช่นนี้ การที่จำเลยปลูกปักอาคารลงในเขตทางหลวงโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็ย่อมเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาข้อต่อสู้เรื่องไม่เจตนา ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อจำเลยปลูกสร้างอาคารใน พ.ศ. 2501 นั้น สภาพของเขตทางหลวงนี้ได้มีอยู่แล้ว และรั้วของวัดก็อยู่นอกเขตนี้ด้วย

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share