แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานที่ดินใช้ตรายางประทับที่ด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากมีข้อความว่า ‘ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากขอยืนยันว่า ในการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินรายนี้ ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ได้มีการตกปากลงคำกันมาอย่างแน่นอนแล้วที่จะทำนิติกรรมสัญญาและขอจดทะเบียนรายนี้ หากเกิดการผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของผู้ขายฝากข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น (ลงชื่อ) ผู้รับซื้อฝาก ‘ และผู้รับซื้อฝากลงลายมือชื่อไว้ นั้นเมื่อปรากฏว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องให้รับผิดทางแพ่งจึงมิใช่บันทึกตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ความจริงผู้ขายฝากกับผู้รับซื้อฝากจะไม่รู้จักกัน ไม่เคยได้ติดต่อตกลงกันเลยผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ลงชื่อมอบหมายในใบมอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 แบ่งขายที่ดินแปลงหนึ่งโดยไม่ได้กรอกข้อความไว้ แต่จำเลยที่ 2 กลับกรอกข้อความลงในใบมอบฉันทะนั้นทำนิติกรรมขายฝากที่ดินทั้งแปลงให้จำเลยที่ 1 จนหลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 2 ฐานปลอมหนังสือ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก คดีถึงที่สุดไปแล้ว เพื่อให้การจดทะเบียนขายฝากและทำนิติกรรมขายฝากดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตนำความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานีว่า ในการทำนิติกรรมขายฝากั้น จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโดยตรงและได้มีการตกลงกันอย่างแน่นอนแล้วที่จะทำนิติกรรมสัญญาและจดทะเบียนรายนี้ หากเกิดการผิดพลาด จำเลยที่ 1 ขอรับผิดทั้งสิ้น ความจริงโจทก์กับจำเลยที่ ไม่เคยรู้จักกัน มาก่อน ไม่เคยติดต่อตกลงกันแต่อย่างใด ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อทำนิติกรรมและจดทะเบียนขายฝาก การกระทำดังกล่าวยังเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ เป็นการกระทำไม่สุจริต โจทก์ขอถือเอาคำฟ้องเป็นการบอกล้างนิติกรรม นิติกรรมและการขายฝากที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์ต้องเสียหายเป็นเงิน 35,000 บาท จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และพิพากษาว่าการจดทะเบียนการขายฝากเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินคืนให้โจทก์ ใช้ค่าเสียหาย 35,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา ต่อสู้ว่าหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 2 ได้กรอกข้อความครบถ้วนถูกต้อง ตรงกับเจตนาที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นคือขายฝากทั้งแปลง หากจำเลยที่ 2 กรอกหนังสือมอบอำนาจผิดเจตนาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดและเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์อย่างร้ายแรงเอง ทั้งจำเลยที่ 1 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทั้งคดีส่วนแพ่งและส่วนอาญา ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 เอาที่ดินไปขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยไม่มีอำนาจ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจะยึดถือเอาที่ดินของโจทก์ไว้ นิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 3 เดือน นิติกรรมขายฝากที่ดินเป็นโมฆะ ให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนเสีย ให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดมาวางศาลภายใน 15 วันเพื่อโจทก์ รับไปติดต่อกับเจ้าพนักงานเพื่อจดทะเบียนเพิกถอนโดยจำเลยที่ 1 เสียค่าธรรมเนียมในการเพิกถอนทั้งหมด และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดทางอาญา ดังฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์เองประมาทเลินเล่อ พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 3686 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ โดยรับมรดกมาจากบิดามารดาได้มอบโฉนดไว้กับน้องชายซึ่งมีนางวงษ์ทอง จำเลยที่ 2 เป็นภรรยาเมื่อ พ.ศ. 2511 โจทก์มีความประสงค์จะแบ่งขายที่ดินแปลงนี้ จำนวน 1 ไร่ จึงได้เซ็นชื่อในใบมอบฉันทะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้นางวงษ์ทอง ไปจัดการดำเนินการให้แทนโจทก์ แต่นางวงษ์ทองกลับกรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจเป็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางวงษ์ทองขายฝากที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลง แล้วนำไปขายฝากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาและจดทะเบียนปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ด้านหลังเอกสารหมาย จ.5 มีตัวอักษรโดยใช้ตรายางประทับตัวอักษรสีแดงมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากขอยืนยันว่า ในการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินรายนี้ ข้าพเจ้าผู้รับซื้อฝากได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ได้มีการตกปากลงคำกันอย่างแน่นอนแล้วที่จะทำนิติกรรมสัญญาและขอจดทะเบียนรายนี้ หากเกิดการผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของผู้ขายฝาก ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น (ลงชื่อ) นางสำเนียง ฟ้ากระจ่าง ผู้รับซื้อฝาก” ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2513 โจทก์จึงทราบเรื่อง ได้บอกให้นางวงษ์ทองไปไถ่ถอนแต่ในที่ดินที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องนางวงษ์ทองฐานปลอมเอกสาร ศาลชั้นต้นจำคุก 3 เดือน คดีถึงที่สุดแล้วต่อมาโจทก์ไปตรวจดูหลักฐานการจดทะเบียนขายฝากที่สำนักงานที่ดินปรากฏว่านางวงษ์ทองได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยบันทึกด้านหลังเอกสาร จ.5 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อพูดตกลงกับโจทก์เรียบร้อยในการขายฝากรายนี้ ความจริงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักและไม่เคยติดต่อตกลงกันเลย
ปัญหาว่า บันทึกด้านหลังเอกสาร จ.5 ดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ท้ายบันทึกจะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำเบิกความของนายประจวบ วัชรตระกูล เจ้าพนักงานที่ดินผู้ลงชื่อในสัญญาขายฝากเอกสาร จ.5 เบิกความว่า การที่มีการประทับตรายางมีข้อความว่า ผู้รับซื้อฝากคือจำเลยที่ 1 รับรองว่าได้ติดต่อตกลงกับเจ้าของที่ดินแล้วนั้น ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินที่ 5/2507 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2507 เรื่อง บันทึกคำยินยอมรับผิดชอบของผู้ซื้อที่ดินก่อนนั้นไม่มีการบันทึกเช่นนี้ เหตุที่กรมที่ดินออกคำสั่งที่ 5/2507 ก็เพื่อป้องกันตนไม่ให้ถูกฟ้องให้รับผิดทางแพ่งเพราะเคยถูกฟ้องเสมอ ๆ แม้จะมีคำสั่งกรมที่ดินที่ 5/2507 นายประจวบ ก็ว่ามีบางกรณีเจ้าพนักงานอาจจะไม่ปฏิบัติตามได้สุดแล้วแต่ท้องถิ่น (เป็นแห่ง ๆ ไป) หากมีกรณีผิดพลาดเจ้าพนักงานรับผิดชอบเอง ดังนี้ บันทึกที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ประทับตรายางเป็นอักษรสีแดงให้จำเลยที่ 1 เซ็นชื่อดังกล่าวข้างต้นนั้น มิใช่บันทึกตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เป็นบันทึกเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินต้องถูกฟ้องร้องให้รับผิดในทางแพ่ง และตามเนื้อความแห่งบันทึกนั้นก็ว่า ถ้าเกิดการผิดพลาด เพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 1 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้นเป็นการผลักความรับผิดให้จำเลยที่ 1 เมื่อมีการผิดพลาดเกิดขึ้นเช่นนี้ แม้ว่าความจริงโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่รู้จักกัน ไม่เคยได้ติดต่อตกลงกันเลย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จดังโจทก์ฟ้อง และได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปด้วยว่า ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำผิดทางอาญา และฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
พิพากษายืน