คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2473

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องหาเปน 2 สำนวน ศาลมิได้พิจารณาคดีรวมกัน สำนวนที่ 1 ศาลรอการลงอาญาไว้แล้วใน สำนวนที่ 2 ศาลจะรอการลงอาญาอีกไม่ได้ เรียกว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่าทำผิดมาแล้วแต่ก่อน การรอการลงอาญาหรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของศาล
วิธีพิจารณาอาญา ปัญหากฎหมายปัญหาว่าจำเลยต้องหาสำนวน ๆ แรกศาลรอการลงอาญาไว้นั้นเรียกว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่าได้ทำผิดแล้ว จึงไม่ควรรอการลงอาญาจำเลยในสำนวนหลังดังนี้ เปนปัญหาข้อกฎหมาย

ย่อยาว

จำเลยต้องหาเปน ๒ สำนวน ศาลมิได้พิจารณาคดีรวมกัน แต่อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังวันเดียวกันคือ ในสำนวนที่ ๑ ศาลล่างทั้ง ๒ ตัดสินว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๓๒๑ ให้จำคุก ๑ ปี ลดโทษตาม ม.๕๙ กึ่งหนึ่งเหลือโทษ ๖ เดือน และให้รอการลงอาญาไว้ตาม ม.๔๑-๔๒ และในสำนวนที่ ๒ จำเลยมีผิดตาม พรบ สัตว์พาหนะ ร.ศ. ๑๑๙ ม.๒๐ ซึ่งต้องรับโทษตาม ม.๓๒๑ ให้จำคุก ๖ เดือน ลดโทษลงกึ่งหนึ่งตาม ม.๕๙ คงจำคุก ๓ เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้อีก
โจทก์ฎีกาเปนปัญหากฎหมายว่า ไม่ควรรอการลงอาญาจำเลย เพราะสำนวนแรกศาลตัดสินให้รอการลงอาญาแล้ว เรียกว่าจำเลยได้เคยต้องคำพิพากษาว่าได้ทำผิดมาก่อน
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จะควรรอการลงอาญาหรือไม่อยู่ในดุลยพินิจของศาล คดีนี้เมื่อจำเลยฟังคำพิพากษาสำนวนที่ ๑ แล้ว ก็เรียกว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่าได้ทำผิดในคดีนั้นมาก่อนแล้ว ฉะนั้นในสำนวนที่ ๒ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิด จะสั่งในคำพิพากษานั้นให้รอการลงอาญาแก่จำเลยอีกมิได้เปนการขัดต่อ ม.๔๑ จึงตัดสินแก้ศาลล่างให้ยกฉะเพาะข้อที่รอการลงอาญาในสำนวนที่ ๒ เสีย คงให้จำคุกจำเลย ๓ เดือน นอกจากนี้ยืนตาม

Share