คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587, 1627 แสดงว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586, 1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ตีความคำว่า ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 71 วรรค 2 ไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของนางโกศลผู้เสียหาย โดยจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔
ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงอาญาแก่จำเลยไว้ และว่าไม่ติดใจจะเอาความแก่จำเลยแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมอันชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายยื่นคำร้องไม่ติดใจเอาความ คดีเป็นอันยอมความกันได้ตามมาตรา ๗๑ วรรค ๒ สิทธิของโจทก์จึงระงับไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๑ วรรค ๒ หมายถึงผู้สืบสันดานตามธรรมชาติ จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี ยอมความไม่ได้ พิพากษากลับว่าจำเลยผิดมาตรา ๓๓๔ ลดรับสารภาพจำคุก ๖ เดือน
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๖ และ ๑๖๒๗ บัญญัติว่า บุตรบุญธรรมนั้นย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่มาตรา ๑๕๘๖ และ ๑๕๘๗ ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า บุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และการรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม แสดงว่า บุตรบุญธรรมยังมีฐานะแตกต่างกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา ๑๕๘๖, ๑๕๘๗ จึงเป็นบทบัญญัติพิเศษเพื่อให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นจะต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญา ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดอีก จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ในการตีความคำว่า ผู้สืบสันดานตามมาตรา ๗๑ วรรค ๒ ไม่ ที่ประชุมใหญ่เห็นพ้องตาม ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี ยอมความไม่ได้ ชอบแล้ว พิพากษายืน

Share