คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 47 ใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการเลิกจ้างกันแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ ส่วนนายจ้างจะมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้หรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
การกระทำของลูกจ้างแม้มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับหรือระเบียบวินัยเกี่ยวกับการทำงาน แต่ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 483 นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยตั้งแต่วันฟ้องการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินต้นค่าชดเชยตั้งแต่วันเลิกจ้างโดยที่ไม่ปรากฏเหตุใด ๆ เพื่อความเป็นธรรม จึงเป็นการเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่โจทก์ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือจ่ายสินแจ้งแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จประจำปีและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้เงินของจำเลยขาดจำนวน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์เป็นผู้ไม่อาจไว้วางใจปฏิบัติหน้าที่มีมลทินมัวหมองในกรณีความผิดอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย สำหรับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ ๔๗ มีผลใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการเลิกจ้างกันแล้วนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้างหรือไม่ ส่วนนายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างลูกจ้างได้หรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ และข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานจึงใช้บังคับต่างกรณีกัน
แม้การกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ มิใช่ละทิ้งการงานมิใช่เป็นผิดร้ายแรง การที่เงินขาดหายไปหากจะถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง แต่ก็ขาดองค์ประกอบให้ข้อที่จะว่าเป็นการไม่สุจริต การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์มีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ รวมทั้งค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่านะชำระเงินเสร็จ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชยตั้งแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ปรากฏเหตุใด ๆ เพื่อความเป็นธรรม จึงเป็นการเกินคำขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินต้นค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share