คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายอำเภอสั่งให้จำเลยที่ 1 จัดการเรื่องเพิกถอนการร้องขอขายที่ดินจัดการใส่ชื่อบุตรโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินจำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมปฏิบัติ กลับพูดจาเป็นทำนองขู่เข็ญโจทก์ ยิ่งกว่านั้นยังร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 พูดหลอกลวงโจทก์ให้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยบอกว่าเป็นการถอนเรื่องการซื้อขาย โอนชื่อให้เด็กได้จึงเป็นการส่อแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า ตั้งใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะโจทก์โอนที่ดินให้บุตรไม่ได้ และถ้าโจทก์ไม่ทราบถึงการหลอกลวงของจำเลยทั้งสามคนหลงเชื่อตามเมื่อเวลาเนิ่นนานออกไป สิทธิที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาหย่าอาจขาดอายุความได้ นอกจากนั้น จำเลยทั้งสามยังร่วมกันก่อให้เกิดภาระผูกพันกับที่ดินโดยนำที่ดินไปเป็นหลักประกันในสัญญากู้เงินและการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1แต่มิได้เป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยา ได้หย่าขาดและแบ่งทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินให้บุตรสองคนคนละครึ่ง โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการโอนใส่ชื่อบุตรเป็นเจ้าของจำเลยไม่โอน กลับนำที่ดินไปขายให้จำเลยที่ 3 โจทก์ทราบจึงร้องคัดค้าน จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับมอบหมายให้ทำการเปรียบเทียบเรื่องที่โจทก์ร้องคัดค้าน ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งที่ในทางทุจริตร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขู่เข็ญขืนใจหลอกลวงโจทก์ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ใช้ไม่ได้ตามกฎหมายโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินที่ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ถ้าจะไม่ให้เกิดความผิด ให้โจทก์ลงชื่อรับรู้ในการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายกัน และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 นำกระดาษที่มีข้อความแล้ว 1 ฉบับมาบังคับขู่เข็ญและหลอกลวงว่า ถ้าโจทก์ลงชื่อในหนังสือแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ถอนการซื้อขายต่อกัน โจทก์ไม่รู้จักหนังสือไทยและหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงลงชื่อในหนังสือทั้งนี้ อันเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้โจทก์ลงชื่อรับรู้เป็นพยานว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับเงินต่อกัน หาใช่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการร้องคัดค้านการซื้อขายที่ดินไม่ จำเลยที่ 1 กระทำลงเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148,157, 161, 162, 341, 342, 343

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 341, 342 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาข้อหาอื่นไม่มีมูล ให้ยกเสีย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจให้โจทก์ลงชื่อในสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 หนังสือสัญญากู้จะทำกันที่ไหนเมื่อใด ไม่ทราบ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3ทำหนังสือสัญญากู้กันที่ตลาดปากถัก โดยโจทก์ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญา ไม่ได้เขียนและทำหนังสือสัญญากู้กันบนที่ว่าการอำเภอกะปง จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นในการทำหนังสือสัญญา ที่ดินเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 หย่าขาดจากกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยปรปักษ์ โจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องมา 6-7 ปีแล้วโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 เมื่ออำเภอรังวัด โจทก์กลับคัดค้านเพื่อเอาที่ดินไปขายให้ผู้อื่น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 หลอกลวงโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ตกลงยินยอมตามข้อไกล่เกลี่ยของนายอำเภอกะปงในเรื่องโจทก์ร้องคัดค้านการจะซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะถอนเรื่องการซื้อขายและจำเลยที่ 2 จะโอนที่ดินให้บุตรตามข้อตกลงในสัญญาหย่า แล้วนายอำเภอกะปงให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานที่ดินอำเภอจัดการดำเนินการตามที่ตกลงกัน แต่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 หลอกลวงโจทก์ให้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 โดยบอกว่าเป็นการถอนเรื่องการซื้อขายที่ดิน โจทก์หลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และเห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 4 จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้คงพิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และผู้ใหญ่บ้านไปทำการรังวัดที่ดิน โจทก์เคยคัดค้านไม่ให้ทำการรังวัด บอกว่าขายไม่ได้ ยังมิสัญญาผูกพันกันอยู่ และโจทก์เอาสัญญาหย่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และผู้ใหญ่บ้านดู จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน ไม่รับฟังคำคัดค้าน เมื่อนายอำเภอสั่งให้จำเลยที่ 1 จัดการเรื่องเพิกถอนการร้องขอขายที่ดิน จัดการใส่ชื่อบุตรโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมปฏิบัติ กลับพูดจาเป็นทำนองขู่เข็ญโจทก์ ยิ่งกว่านั้นยังร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 พูดหลอกลวงโจทก์ให้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยบอกว่าเป็นการถอนเรื่องการซื้อขาย โอนชื่อให้เด็กได้ จึงเป็นการส่อแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าตั้งใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะโจทก์โอนที่ดินให้บุตรไม่ได้ และถ้าโจทก์ไม่ทราบถึงการหลอกลวงของจำเลยทั้งสามคน หลงเชื่อตาม เมื่อเวลาเนิ่นนานออกไปสิทธิที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาหย่าอาจขาดอายุความได้ นอกจากนั้น จำเลยทั้งสามยังร่วมกันก่อให้เกิดภาระผูกพันกับที่ดิน โดยนำที่ดินไปเป็นหลักประกันในสัญญากู้เงิน และการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้จำเลยที่ 2ที่ 3 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 แต่มิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำผิด

พิพากษายืน

Share