คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกปรากฎว่าลูกหนี้มิได้ขอประนอมหนี้ ก็เป็นอันว่าจะต้องถูกพิพากาาให้ล้มละลายต่อไป เจ้าหนี้จะลงมติมีให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากลงมติเช่นนั้น ย่อมเป็นการนอกเหนือไปจากบทบัญญัติในมาตรา 31 จึงเป้นการฝ่าฝืนและขัดต่อกฎหมายลักษณะล้มละลาย ศาลจึงสั่งให้ทำลายมติดังกล่าวได้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ และเมื่อสั่งทำลายมติแล้ว ก็มีผลเท่ากับเจ้าหนี้ไม่ลงมติประการใด ศาลย่อมพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแก่จำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลว่าได้นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จำนวนหนี้ ๓๕,๒๔๑.๗๕ บาทลงมติขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้อีก ๓ ราย จำนวนหนี้รวม ๑๗๓,๔๑๗.๙๑ บาทลงมติไม่ให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแต่ลูกหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย มติของเจ้าหนี้ ๓ รายนั้นจึงไม่มีผล ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย และนัดไต่สวนโดยเปิดเผยต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีไม่เข้าตามมาตรา ๖๑ ที่จะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ลูกหนี้ทราบ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้ราคาประมาณ ๑๕,๓๑๕ บาทเท่านั้น แต่มีหนี้ที่ยื่นขอรับชำระเป็นเงิน ๒๐๘,๖๕๙.๖๖ บาท ไม่มีเหตุที่พอฟังว่าไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และลูกนี้ก็ไม่ได้ยื่นขอประนอมหนี้ไว้ มติของเจ้าหนี้ ๓ รายนั้นเลื่อนลอยไม่มีเหตุสนับสนุน มีลักษณะเป็นการเอาเสียงข้างมากช่วยเหลือลูกหนี้โดยสุจริต เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบและนอกเหนือกฎหมาย ขัดต่อกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน หากศาลไม่พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ก็ไม่มีอำนาจรวบรวมทรัพย์สินเอาเงินมาแบ่งให้เจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลสั่งทำลายมติของเจ้าหนี้ ๓ รายนั้นและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับประเด็นที่พิพาทกันนี้ คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๓๑,๓๖ และ ๖๑ การที่ให้มีการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเท่านั้น ฉะนั้น ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกอันเป็นการประชุมที่ให้โอกาสลูกหนี้ทำการประนอมหนี้นั้น เมื่อไม่มีการประนอมหนี้ ก็เป็นอันว่าจะต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลายต่อไป เจ้าหนี้จะลงมิติมิให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ การที่ลงมตินอกเหนือไปจากบทบัญญติในมาตรา ๓๑ จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อกฎหมายลักษณะล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ ศาลจึงให้ทำลายมติดังกล่าวได้ตามมาตรา ๓๖ เมื่อได้สั่งทำลายแล้ว จึงมีผลเท่ากับเจ้าหนี้ไม่ลงมติประการใด ศาลย่อมพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ตามมาตรา ๖๑
พิพากษากลับ ให้ทำลายมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มลาย

Share