แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความที่ผู้มีชื่อคนหนึ่งกับจำเลยตกลงเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทร่วมกัน ใครตายก่อนให้ตกเป็นของอีกคนหนึ่งนั้น เป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้โดยมีเงื่อนไขและเป็นสัญยาต่างตอบแทน ฉะนั้น เมื่อผู้มีชื่อตายทรัพย์พิพาทย่อมตกเป็นของจำเลย ผู้มีชื่อที่ตายจะทำพินัยกรรมทรัพย์นั้นให้คนอื่นอีกไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางหนู รัญธิสารกับจำเลยเคยพิพาทกันและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ต่อมาจำเลยไม่ยอมเลี้ยงดู นางหนูจึงฟ้องจำเลย ระหว่างคดี นางหนูทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ หลังจากนั้นนางหนูตาย โจทก์ขอรับมรดกความศาลพิพากษาให้นางหนูมีสิทธิในทรัพย์คนละครึ่งกับจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมแบ่ง จึงขอให้บังคับ
จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลย พินัยกรรมที่นางหนูทำยกทรัพย์ของคนอื่นให้โจทก์เป็นโมฆะพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณืพิพากษาแก้ ให้จำเลยแบ่งทรัพย์บางรายการให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งนางหนูได้ทำกับจำเลยนี้ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นทรัพย์นั้นยังพิพาทกันอยู่ ยังไม่แน่นอนว่าเป็นกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาดของฝ่ายใด คู่ความจึงได้ตกลงยอมความกันว่า ให้เป็นของนางหนูกับจำเลยร่วมกัน เมื่อใครตายก่อนก็ให้ตกเป็นของอีกคนหนึ่ง จึงเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้โดยมีเงื่อนไขและเป็นสัญญาต่างตอบแทนกัน เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท มิใช่เรื่องพินัยกรรม ทั้งศาลก็ได้มีคำพิพากษาตามสัญญายอมนั้น ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ฉะนั้น ขณะเมื่องนางหนูตาย นางหนูจึงไม่มีทรัพย์ดังกล่าวที่จะให้เป็นไปตามพินัยกรรม เพราะทรัพย์เหล่านั้นตกเป็นของนายวาสจำเลยไปตามสัญญายอมเสียแล้ว พินัยกรรมของนางหนูจึงไม่มีผลเกี่ยวกับทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมนั้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์