แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งเจ็ดสัญญาพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่สำหรับหนี้ตามสัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทยและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต ศาลชั้นต้นเพียงแต่พิพากษายกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์มิได้นำสืบจำนวนหนี้ที่แท้จริงในกรณีโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทำให้ศาลชั้นต้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ได้และในทำนองเดียวกันศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ก็โดยเหตุจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 เพียง 4 สัญญาในจำนวน 7 สัญญา แต่โจทก์นำสืบยอดหนี้รวมกันมาทั้งเจ็ดสัญญา ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจทราบจำนวนหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 4 สัญญาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเหตุให้ไม่อาจพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดได้เช่นกัน แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชี้ชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทยและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเช่นนี้แม้ศาลชั้นต้นในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีต่อโจทก์อันเป็นบุคคลสิทธิที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันก็ตามแต่สำหรับที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์นั้น โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้จำนองและทรงทรัพย์สิทธิที่จะบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ตามวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้ได้ เพราะไม่ปรากฏเหตุความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 744 บัญญัติไว้ ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำพิพากษาที่ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์จำนวน 9,847,723.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2266 ถึง 2269 ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และโฉนดเลขที่ 25509 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้โจทก์จำนวน 19,836.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 6,534 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2541 และวันที่ 28 เมษายน 2542 จากต้นเงิน 6,768.82 บาท นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้สัญญาค้ำประกันตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ในมูลหนี้ที่ยกฟ้องทั้งหมดภายในกำหนดอายุความ โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้เฉพาะจำเลยที่ 1 รับผิด จึงขอให้ตัดคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเพราะเป็นการผิดหลง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการเดียวตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองในที่ดินของจำเลยที่ 2 หรือไม่เพียงใด เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งเจ็ดสัญญา จำนวน 9,847,723.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่สำหรับหนี้ตามสัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทยและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต ศาลชั้นต้นเพียงแต่พิพากษายกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์มิได้นำสืบจำนวนหนี้ที่แท้จริงในกรณีโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทำให้ศาลชั้นต้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ได้ และในทำนองเดียวกันศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ก็โดยเหตุจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 เพียง 4 สัญญาในจำนวน 7 สัญญา คือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2535 ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2537 และฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 แต่โจทก์นำสืบยอดหนี้รวมกันมาทั้งเจ็ดสัญญา ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจทราบจำนวนหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 4 สัญญาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน เป็นเหตุให้ไม่อาจพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดได้เช่นกัน แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชี้ชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทย และสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเช่นนี้ แม้ศาลชั้นต้นในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีต่อโจทก์ อันเป็นบุคคลสิทธิที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันก็ตาม แต่สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 25509 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์นั้น โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้จำนองและทรงทรัพยสิทธิที่จะบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ตามวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้ได้ เพราะไม่ปรากฏเหตุความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 บัญญัติไว้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำพิพากษาที่ถูกต้องหาใช่เป็นคำพิพากษาผิดหลงไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้