แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามที่กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังออกประกาศหรือกฎกระทรวงในการที่ทางราชการรับซื้อหรือออกขายนั้น เป็นเรื่องอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลังจะถือปฏิบัติอย่างไรเท่านั้น หาใช่กฎหมายที่จะบังคับใช้แก่ประชาชนไม่ ฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจึงต้องถือตามวันเวลาที่ทำการแลกเปลี่ยนเงินตราจึงต้องถือตามวันเวลาที่ทำการแลกเปลี่ยนหรือควรจะได้ทำการแลกเปลี่ยนและความเสียหายที่โจทก์จะได้รับก็คือ ความเสียหายในเวลาที่มีการผิดนัดชำระหนี้ และต้องคิดคำนวณลงเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย คือ เป็นเงินไทยในขณะนั้น จะถือว่าเสียหายเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิงตลอดไปไม่ได้
แม้จะมีกฎหมายว่า ไม่นำเงินตราต่างประเทศมาขายเป็นผิดอาญาก็ตาม แต่เป็นการบังคับให้ขายเงินตราต่างประเทศอีกส่วนหนึ่งในภายหลังต่างหาก ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะขอให้จำเลยต้องผูกพันอยู่เดิม อายุความจึง 10 ปี หาใช่ 5 ปี โดยถืออัตราโทษทางอาญาในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นหลักตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรกไม่
การที่ต่างประเทศมีกฎหมายห้ามนำเงินตราออกนั้น ไม่ใช่เป็นข้อแก้ตัวว่าเป็นการพ้นวิสัย อันจะทำให้พ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งประกอบการค้าใช้ชื่อว่า “อุดมรัตน์” และได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงิน ๑๙,๓๖๓ ปอนด์สเตอร์ลิง ๑๐ ชิลลิง ๕ เพนนี และจำเลยได้ทำและปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราและกฎกระทรวงการคลัง โดยทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา คือ รับรองขายเงินตราต่างประเทศตามจำนวนเงินที่กล่าวแล้วให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์ ภายใน ๖ เดือน นับแต่วันส่งของออก จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมขาย ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ไปปอนด์ละ ๒๓.๑๔๖๒๕ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒,๑๑๔,๗๒๒ บาท ๙๐ สตางค์ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยขายเงินตราต่างประเทศ ๙๑,๓๖๓ ปอนด์สเตอร์ลิง ๑๐ ชิลลิง ๕ เพนนี ในอัตราปอนด์ละ ๓๔.๘๕ ๓๑๘ บาท หากไม่สามารถก็ให้ใช้ค่าเสียหาย ๒,๑๑๔,๗๒๒.๙๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นโจทก์อยู่แล้ว ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังจะเข้ามาเป็นโจทก์อีกธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจเป็นตัวแทนของโจทก์ศาลไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาจำเลยไม่ได้ส่งของออกไปเองใบอนุญาตบางรายส่งของออกไม่เต็มจำนวน บางรายส่งออกไม่ได้ วันเดือนปีที่ส่งออกที่คะเนว่าจะได้รับชำระเงินและเงินตราต่างประเทศที่จะได้มาขายให้ ก็กะเอาตามความพอใจของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น จำเลยไม่เคยรับเงินตราต่างประเทศเลย
ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเคร่งครัดฉันใดประเทศอื่นทั่วโลกก็มีเช่นเดียวกัน การซื้อขาย การโอน หรือการนำเข้าหรือนำออกเงินตราต่างประเทศจึงต้องขออนุญาต เป็นเรื่องยากลำบาก การบังคับให้นำเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาจึงเป็นเรื่องพ้นวิสัย จำเลยหรือผู้ส่งของออกจึงไม่ต้องรับผิด ถ้าถือว่าเป็นหนี้จำเลยก็หลุดพ้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยโน้นได้ผ่อนผันยกเว้นให้นำสินค้าเข้ามาแทนได้
โทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรามีอายุความฟ้องร้องภายใน ๕ ปี และอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง สิทธิของผู้เสียหายย่อมระงับและขาดอายุความแล้ว หากเป็นกรณีทำให้เกิดเสียหายแก่สิทธิของโจทก์ก็เป็นเรื่องละเมิด ย่อมขาดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
ก่อนฟ้อง โจทก์หรือธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยบอกกล่าวเรียกร้องอำนาจฟ้องจึงยังไม่มี ฯลฯ อัตราค่าเสียหายที่เรียกร้องมายังไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยเป็นผู้ส่งออก มีหน้าที่ขายเงินค่าสินค้าให้โจทก์ ๗๗,๓๒๓ ปอนด์สเตอร์ลิง ๑๐ ชิลลิง ๕ เพนนี และต้องขายปอนด์ละ ๓๔.๘๕ ๓/๘ บาท โจทก์ขาดประโยชน์ไปปอนด์ละ ๒๓.๑๔ ๕/๘ บาท พิพากษาให้จำเลยขายเงินตราต่างประเทศ ๗๗,๓๒๓ ปอนด์สเตอร์ลิง ๑๐ ชิลลิง ๕ เพนนี แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัวแทนของโจทก์ โดยผ่านธนาคารรับอนุญาตหรือแก่โจทก์ในอัตราปอนด์ละ ๓๔.๘๕ ๓/๘ บาท หากไม่สามารถขายก็ให้ใช้ค่าเสียหายปอนด์ละ ๒๓.๑๔ ๕/๘ บาท กับให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ในจำนวนเงิน ๗๗,๓๒๓ ปอนด์ ๑๐ ชิลลิง ๕ เพนนี ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า (๑) จำเลยต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ส่งออกและในการขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (๒) การนำเงินตราออกนอกประเทศไม่ใช่การพ้นวิสัย (๓) คำร้องอ้างเอกสารของจำเลยเป็นการอ้างเอกสารมากมาย ไม่เจาะจงว่าเอกสารฉบับใดกี่ยวกับจำเลย ไม่สมควรจัดการเรียกได้อีก (๔) เงินปอนด์ตามท้องตลาดราคาปอนด์ละ ๕๘ บาท ต่างกับราคาที่จำเลยจะต้องขายให้โจทก์ปอนด์ละ ๑๘.๑๗ บาท ฉะนั้น ถ้าจำเลยจัดหาเงินปอนด์ขายให้ในอัตราปอนด์ละ ๓๙.๘๓ บาท ก็ต้องบังคับให้ใช้เงินแก่โจทก์ปอนด์ละ ๑๘.๑๗ บาท (๕) ฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ (๖) กระทรวงการคลังโจทก์เป็นตัวการมีสิทธิรับซื้อเงินตราต่างประเทศจากจำเลย (๗) การส่งของออกต้องส่งไปในวันหนึ่งวันใดตามปฏิทิน ฉะนั้น จึงเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๔
พิพากษาแก้ ให้จำเลยขายเงินตราในอัตราปอนด์ละ ๓๙.๘๓ บาท ถ้าไม่นำมาขายก็ให้ใช้เงินในอัตราปอนด์ละ ๑๘.๑๗ บาท นอกนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ
โจทก์ฎีกา ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คือ กำหนดอัตราปอนด์ละ ๓๕ บาท ไม่ใช่ ๔๐ บาท
จำเลยฎีกาให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า อันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังออกประกาศหรือออกกฎกระทรวงในการที่ทางราชการรับซื้อหรือออกขายนั้น เป็นเรื่องอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลังจะถือปฏิบัติอย่างไรเท่านั้น หาใช่กฎหมายที่จะบังคับใช้แก่ประชาชนอย่างไรไม่ ฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะควรเป็นจำนวนเท่าใดจึงต้องถือตามวันเวลาที่ทำการแลกเปลี่ยนหรือควรจะได้ทำการแลกเปลี่ยน
สำหรับกรณีเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ระยะเวลาที่ครบกำหนดที่จำเลยจะต้องนำเงินตราต่างประเทศมาขายนี้ตกอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ๒๔๘๙ และมกราคม ๒๔๙๐ ในวันเหล่านี้ อัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับซื้อปอนด์ละ ๔๐ บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับก็คือจำนวนเงินปอนด์ที่จำเลยมีความผูกพันจะต้องขายให้แก่โจทก์ ในอัตราปอนด์ละ ๔๐ บาท ถ้าจำเลยหามาขายให้ในอัตรานี้ไม่ได้ ค่าเสียหายก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงในวันศาลพิพากษาหักด้วยราคาปอนด์ในวันที่จำเลยต้องขายให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาในกรณีนี้ชอบแล้ว ยกฎีกาโจทก์
สำหรับฎีกาจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยซี้ขาดว่าจำเลยเป็นผู้สั่งสินค้าตามใบอนุญาตนั้นชอบแล้ว และในข้อที่ว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศเข้ามานั้น คำสั่งยกเว้นนั้นเกี่ยวแก่คนอื่น ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยไม่มีคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้ชอบแล้ว
ในเรื่องที่จำเลยว่าอายุความต้องถือ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ นั้น เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญา หากแต่เป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ที่จำเลยก่อให้เกิดขึ้นจากการที่จำเลยสัญญาว่าจะนำเงินตราต่างประเทศมาขายให้โจทก์ แม้จะมีกฎหมายว่า การไม่นำเงินตราต่างประเทศมาขายเป็นความผิดอาญา ก็เป็นการบังคับให้ขายเงินตราต่างประเทศอีกส่วนหนึ่งในภายหลังต่างหาก สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยชำระหนี้ของตนตามสัญญาที่ให้ไว้ จึงหาเป็นเรื่องฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาอย่างใดไม่ หากเป็นเรื่องฟ้องตามหนี้ที่จำเลยต้องผูกพันอยู่เดิม อายุความจึงเป็น ๑๐ ปี
สำหรับข้อต่อสู้ว่าหนี้ของจำเลยเป็นอันพ้นวิสัยที่จะชำระนั้น เพียงแต่จำเลยอ้างว่าต่างประเทศก็มีกฎหมายควบคุมเงินตราห้ามนำออกนอกประเทศนั้น หาเป็นข้อแก้ตัวว่าเป็นการพ้นวิสัยอันจะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดไม่ ฯลฯ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย