แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องและขอให้บังคับคดีแก่จำเลยในระหว่างจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว การจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยจึงอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22,109และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้แล้วโอนเงินที่เหลือภายหลังหักค่าใช้จ่ายส่งเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฎิบัติการแทนตามมาตรา 22ประกอบกับมาตรา 6 จึงมีผลเท่ากับเป็นการยึดทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ซึ่งผู้ใดจะคัดค้านจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 158ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน311,982 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน290,216 บาท นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์บังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนต่าง ๆ รวม 55 รายการที่ห้างผู้ร้องเลขที่ 1303/33-34 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดรวม 55 รายการเป็นเงิน 249,750 บาท เป็นสินค้าของผู้ร้อง มีไว้เพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของผู้ร้อง มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยโดยจำเลยได้ลงทุนและลงแรงในการเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ร้อง จำเลยเป็นญาติกับนางวิภาวรรณ ทานธนะเจริญ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างผู้ร้องแต่ไม่มีชื่อเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ร้องเพราะจำเลยเป็นคนล้มละลาย จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นเงิน 310,216 บาทโจทก์ได้นำไปส่งให้ที่ห้างผู้ร้อง และห้างผู้ร้องก็ได้ออกเช็คชำระค่าสินค้าบางส่วนเป็นเงิน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ส่วนที่เหลือไม่ยอมชำระ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 ซึ่งปรากฎว่าจำเลยได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ ล.79/2528 ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์นางสาววิลาวรรณ ทานธนะเจริญ กับพวกจำเลย ตั้งแต่วันที่ 22เมษายน 2528 และถูกพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2529ขณะนี้ไม่พ้นจากภาวะล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งให้ปิดคดีตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2532 โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดสิ่งของต่าง ๆ โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 20 และ 22 กุมภาพันธ์ 2534ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาณราคาไว้เป็นเงิน 249,750 บาท ผู้ร้องได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม2534 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้องชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยและขอให้บังคับคดีแก่จำเลยในระหว่างจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.79/2528ของศาลชั้นต้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22บัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ตลอดจนเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และมาตรา 109บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจากล้มละลายให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ การที่โจทก์ฟ้องและบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการบังคับแก่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าว และปรากฎตามบันทึกของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 29 มีนาคม 2534 ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานขอให้ศาลชั้นต้นเปิดคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดแล้วโอนเงินที่เหลือภายหลังหักค่าใช้จ่ายส่งเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.79/2528 ของศาลชั้นต้นอันเป็นกรณีที่ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปฎิบัติการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 ประกอบกับมาตรา 6 นั่นเอง การบังคับคดีที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ของจำเลยในคดีนี้จึงมีผลเท่ากับเป็นการยึดทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดที่เห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด จะต้องยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนและมีคำสั่ง ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ต้องกระทำในคดีล้มละลายการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองต่างพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องต้องตามกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน