คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุสุดวิสัยต้องเป็นเหตุผิดปกติ สุดวิสัยที่คิดว่าจะมีขึ้นหากอาจป้องกันผลพิบัติได้ด้วยการจัดการระมัดระวังตามสมควรย่อมไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
นักบินอื่นเคยนำเครื่องบินไปเติมน้ำมันที่สนามบินพาณิชย์ดอนเมืองบ่อย ๆ และประสบกับกระแสลมปั่นป่วนอยู่เป็นประจำเพราะมีเครื่องบินลำอื่นเข้าออกอยู่เสมอ ในการบินขึ้นหรือลงในบริเวณที่มีเครื่องบินจอดอยู่ต้องระวังมากกว่าที่อื่น ฉะนั้นการที่จำเลยขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ไปเติมน้ำมัน ณ สถานที่ดังกล่าว แม้จะประสบกับอากาศปั่นป่วนเพราะเครื่องบินไอพ่นติดเครื่องท่อไอพ่นหันมาทางเครื่องบินที่จำเลยขับเคลื่อนลอยอยู่กับมีเครื่องบินใบพัดสี่เครื่องยนต์แท้กซี่ผ่านจนเป็นเหตุให้เครื่องบินที่จำเลยขับขี่เสียการทรงตัว เอียงกระแทกพื้นลานบินปลายใบพัดกระทบพื้นหักกระเด็นไปถูกเครื่องบินลำอื่นเสียหายจำเลยก็ไม่อาจอ้างได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย
จำเลยได้ขับเครื่องบินไปลงจอดเติมน้ำมันที่หลุมเติมน้ำมันแต่ขาดความรู้ความชำนาญในการขับขี่บังคับเครื่องบินกว่าจะเข้าจอดตรงหลุมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ต้องขยับเครื่องบินขึ้นลงถึงสามครั้ง ประกอบกับบริเวณนั้นมีกระแสลมปั่นป่วนอยู่เป็นประจำเนื่องจากมีเครื่องบินเข้าออกอยู่เสมอและจอดอยู่มาก ซึ่งในการบินขึ้นลงต้องระมัดระวังมากกว่าที่อื่น เมื่อจำเลยใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ และก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนักบินขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการในทางราชการของจำเลยที่ ๒โดยประมาท ทำให้ใบพัดฟาดกับลานบินหักกระเด็นไปถูกเครื่องบินแอฟโร่ของบริษัทเดินอากาศไทยจำกัด เสียหาย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค่าเสียหายไว้กับบริษัทเดินอากาศไทยจำกัด ได้ใช้เงินให้บริษัทไป ๓๐๕,๐๘๕.๔๔ บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแต่จำเลยไม่ใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑, ๒ ต่อสู้ว่า เป็นผลพิบัติซึ่งจำเลยที่ ๑ ไม่อาจป้องกันได้และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
คดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ ศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ๒ ร่วมกันใช้เงินตามฟ้องกับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑, ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑, ๒ ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับขี่เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของจำเลยที่ ๒ จากสนามบินของกรมตำรวจซึ่งอยู่ทางฝั่งสนามบินของกองทัพอากาศดอนเมือง เพื่อเข้าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงทางฝั่งสนามบินพาณิชย์ดอนเมือง ห่างไปประมาณ ๑ กิโลเมตรโดยเป็นการปฏิบัติราชการในทางราชการของจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๑บังคับเครื่องบินเพื่อจะลงจอด เครื่องบินเอียงไปทางขวา เป็นเหตุให้ปลายโรเตอร์คือใบพัดด้านบนตอนปลายกระทบพื้นด้านขวาหักกระเด็นไปถูกเครื่องบินแอฟโร่ของบริษัทเดินอากาศไทยจำกัดเสียหาย คิดเป็นเงินตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จริงหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำจำเลยรับอยู่ว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่จอดรับคนโดยสารและเติมน้ำมันของเครื่องบินไอพ่นพาณิชย์และเป็นที่ขึ้นลงของเครื่องบิน มีเครื่องบินทั้งใช้ใบพัดและใช้ท่อจอดอยู่เสมอทั้งมีเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทยจำกัดจอดอยู่ในบริเวณนั้นด้วย แม้พันตำรวจตรีละเอื้อนนักบินที่ ๑ พยานจำเลยก็เบิกความว่า พยานเคยนำเครื่องบินไปเติมน้ำมันในบริเวณที่เกิดเหตุบ่อย ๆ ได้ประสบกับกระแสลมปั่นป่วนอยู่เป็นประจำ เพราะมีเครื่องบินลำอื่นเข้าออกอยู่เสมอ การบินขึ้นหรือลงในบริเวณที่มีเครื่องบินจอดอยู่ก็ต้องระวังมากกว่าที่อื่น ฉะนั้น ตามที่จำเลยนำสืบว่าความเสียหายเกิดจากเครื่องบินที่จำเลยที่ ๑ ขับขี่ประสบกับอากาศปั่นป่วนเพราะเครื่องบินไอพ่นติดเครื่องท่อไอพ่นหันมาทางเครื่องบินที่จำเลยขับเคลื่อนลอยอยู่ กับมีเครื่องบินใบพัด ๔ เครื่องยนต์แท้กซี่ผ่าน จนเป็นเหตุให้เครื่องบินที่จำเลยขับขี่เสียการทรงตัวเอียงกระแทกพื้นลานบิน ปลายใบพัดกระทบพื้นหักกระเด็นไปถูกเครื่องบินแอฟโร่จนได้รับความเสียหายนั้น ศาลฎีกาว่าแม้เป็นความจริงจะฟังว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้ เพราะที่จะอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยได้ต้องเป็นเหตุผิดปกติสุดวิสัยที่คิดว่าจะมีขึ้น กรณีของจำเลยเป็นผลพิบัติที่อาจป้องกันได้ ถ้าได้จัดการระมัดระวังตามสมควรไม่ใช่เป็นเหตุที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย
คดีได้ความตามคำจำเลยที่ ๑ และจ่าสิบตำรวจชาญผู้เป็นช่างเครื่องประจำเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ลำเกิดเหตุนี้ว่า ครั้งแรกเมื่อจำเลยที่ ๑ นำเครื่องบินลงจอดนั้น ห่างหลุมที่เติมน้ำมันประมาณ ๑๕ เมตร แต่สายสูบยาวไม่ถึง จ่าสิบตำรวจชาญจึงบอกให้จำเลยที่ ๑ ขยับเครื่องบินให้ใกล้เข้าไปอีก จำเลยที่ ๑ ยกเครื่องให้สูงขึ้นแล้วบินเคลื่อนไป แต่ก็ยังห่างหลุมอยู่จึงขยับให้กลับมาใกล้หลุมเข้าอีก ซึ่งขณะนั้นเครื่องบินอยู่สูงจากพื้นดินประมาณเมตรเศษพอขยับเข้ามาเครื่องบินโคลงเคลงเสียการทรงตัว ใบพัดตอนปลายตีพื้นดินปลายใบพัดแตกกระเด็นไปถูกเครื่องบินแอฟโร่ซึ่งจอดอยู่ห่างไปประมาณ๓๐ เมตรเสียหาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ขาดความรู้ความชำนาญในการขับขี่บังคับเครื่องบิน ดังจะเห็นได้ว่ากว่าจะเข้าจอดตรงหลุมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ จำเลยต้องขยับเครื่องบินขึ้นลงถึงสามครั้งสามคราวยิ่งพิเคราะห์คำขอพันตำรวจตรีละเอื้อนพยานจำเลยที่ว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีกระแสลมปั่นป่วนอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เพราะมีเครื่องบินเข้าออกอยู่เสมอ ทั้งยังมีเครื่องบินจอดอยู่มาก การบินขึ้นลงก็ต้องระมัดระวังมากกว่าที่อื่นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงภาวะสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว พฤติการณ์ของคดีบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ผู้ขับขี่เครื่องบินในภาวะการณ์เช่นนั้น ขาดความระมัดระวังซึ่งจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังที่ศาลล่างทั้งสองชี้ขาดมา
พิพากษายืน

Share