คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่ชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุใด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็น ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินมีข้อความว่า ระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนด นั้น เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของจำเลยที่ 1 เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะไม่มีข้อกำหนดในสัญญาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดตั้งแต่เมื่อใด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน แม้จำเลยที่ 2 จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหลักแหล่งที่ทำการเป็นปกติแห่งเดียวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองไปถึงจำเลยที่ 1 แล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผู้จำนองได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 2,000,000 บาท และทำสัญญากู้เงินอีก10,000,000 บาท จากโจทก์สาขานครปฐม มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 12,000,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์เพิ่มเติมอีก 2 ครั้งรวมกับเงินกู้เดิมเป็นเงินกู้ทั้งสิ้น16,000,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินเพิ่มเติมและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองที่ดินอีก 2 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนอง18,000,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,235,707.78 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองทรัพย์ของจำเลยที่ 2 หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 2,000,000 บาท กับโจทก์สาขานครปฐม หนี้ตามฟ้องยังไม่ถึงกำหนดโจทก์ไม่มีสิทธิแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ก่อนถึงกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการทวงถามให้ชำระหนี้ดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นทั้งหมดถึงวันฟ้องเพียง 20,100,200 บาทฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์23,235,707.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองนำมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่ให้ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนั้น กฎหมายมีความประสงค์จะให้ใช้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าวรรคสุดท้ายของมาตรา 24 ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่าคำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ247 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้จำเลยที่ 1ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งสภาพและข้อหา ทำให้จำเลยที่ 1หลงข้อต่อสู้ และโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานครปฐมแต่เอกสารแนบท้ายฟ้องไม่ได้ระบุว่าสาขานครปฐมแต่อย่างใด ดังนี้ คำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่ชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุใดส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไว้คดีนี้จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็น ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกว่าขึ้นกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นที่ว่า ข้อตกลงในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนกำหนดขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญากับโจทก์ 2 ฉบับ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหนี้ถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 12 เมษายน 2527 ส่วนสัญญากู้เงินและสัญญากู้เงินเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง หนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 12 เมษายน 2530และสัญญาทั้งสองฉบับมีข้อความต่อไปอีกว่า ระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดนั้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียเปรียบโจทก์ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของจำเลยที่ 1 เองหาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3161/2527 ระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัดโจทก์ นายรุจิโรจน์ ตันชวลิต กับพวก จำเลย โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาได้ ส่วนสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อฟังว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วยแม้จะไม่มีข้อกำหนดว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดตั้งแต่เมื่อใด
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่จำนอง พิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่านายวิชิตได้มอบอำนาจให้นายสุขุม ธารณธรรมทนายโจทก์ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามส่งไปยังจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และส่งไปให้แก่จำเลยที่ 2 ยังบ้านพักที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีผู้รับแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ ส่งให้ไม่ได้ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนแม้จำเลยที่ 2จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหลักแหล่งที่ทำการเป็นปกติแห่งเดียวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ทั้งในหนังสือบอกกล่าวทวงถามที่ส่งไปถึงจำเลยที่ 1ก็มีการทวงถามบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ด้วย การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปถึงจำเลยที่ 1 แล้ว ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วโดยโจทก์ไม่ต้องนำบุรุษไปรษณีย์มาเบิกความข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทราบหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่จำนองของโจทก์แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share