คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้ รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำโดย ประมาทของจำเลย โจทก์ต้อง เช่า รถยนต์บรรทุกอื่นมาใช้ แทนในระหว่างซ่อม แม้ได้ความว่าโจทก์ยังมีรถยนต์บรรทุกอีก 2 คันมาใช้ แทนกันได้ ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะเช่า รถยนต์บรรทุกอื่นมาแทนรถยนต์บรรทุกคันที่ได้ รับความเสียหายจำเลยต้อง รับผิดใช้ ค่าเช่ารถยนต์บรรทุกแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ที่ 3 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10-5826 กรุงเทพมหานครด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 691,243 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,281 บาท และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10-5826 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ทั้งมิได้ประมาท ความประมาทเกิดจากนายมนูญคนขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ กับต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย
จำเลยที่ 3 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 2 และให้การว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการขนส่งในการเดินรถโดยสารรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-5826 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ได้เช่าไปจากจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 360,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มอีก 104,077 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาประเด็นแรกมีว่า นายมนูญ บุญเสถียร คนขับรถโจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ โจทก์มีนายมนูญ คนขับรถโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-1412 ชุมพร ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพราะรถยนต์บรรทุกของโจทก์บรรทุกกุ้งสดหนัก และเป็นทางขึ้นเนินทั้งเป็นทางโค้งด้วย ส่วนรถยนต์โดยสารแล่นสวนทางลงเนินคร่อมทางเดินรถที่พยานเป็นผู้ขับ พยานได้หักหลบไปทางซ้ายแต่ไม่พ้น รถยนต์บรรทุกคันที่พยานขับจึงถูกรถยนต์โดยสารชนจนหัวรถยนต์บรรทุกหันกลับไปทางจังหวัดระนอง รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหายมาก พยานได้รับบาดเจ็บ และร้อยตำรวจตรีชาติ งานพิทักษ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนองพยานโจทก์อีกคนหนึ่งเบิกความว่าเมื่อพยานออกไปดูสถานที่เกิดเหตุ พบรถยนต์ทั้งสองคันอยู่ในที่เกิดเหตุในสภาพที่ชนกัน แสดงว่ารถยนต์บรรทุกกำลังแล่นขึ้นเขาส่วนรถยนต์โดยสารแล่นลงจากเขา พยานได้ทำแผนที่เกิดเหตุบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและถ่ายภาพรถยนต์บรรทุกไว้ ปรากฏตามเอกสารและภาพถ่ายหมาย จ.7 ถึง จ.12 และตัวจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารคร่อมเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก เพราะรถยนต์โดยสารมีความยาวมาก ทางบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งหักเป็นข้อศอกการจะเลี้ยวรถจะต้องขับเข้าไปทางด้านขวา ซึ่งคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการเจือสมกับคำเบิกความของนายมนูญพยานโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามอบตัวก็ได้ให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถโดยประมาท คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการประมาทแต่ฝ่ายเดียว โดยนายมนูญคนขับรถโจทก์ไม่มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใดและอีกประเด็นหนึ่งมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เสียหายเพียงใดสำหรับค่าซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์นั้นเห็นว่า ความเสียหายของรถยนต์บรรทุกที่ได้รับตามภาพถ่ายหมาย จ.9 ถึง จ.12 เสียหายมากและโจทก์มีรายการค่าอะไหล่และใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.14, จ.15 มาแสดงว่าได้ชำระเงินค่าซ่อมจำนวน224,077 บาท และโจทก์ยังมีนายบุญทอง แซ่ฉั่ว เสมียนของอู่ซ่อมรถยนต์ปราณีตยนต์บริการเป็นพยานโจทก์เบิกความรับรองส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่ารถยนต์บรรทุกของโจทก์ 28 รายการ ค่าซ่อมเป็นเงิน 120,330 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 นั้น เห็นว่าคณะกรรมการตีราคารถอุบัติเหตุตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เอง ย่อมต้องตีราคาค่าซ่อมให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ รูปคดีฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่ารถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินค่าซ่อม224,077 บาทจริง ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเช่ารถอื่นมาใช้แทนในระหว่างซ่อมนั้น เห็นว่า เมื่อรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ก็จำเป็นต้องหารถยนต์บรรทุกคันอื่นมาแทนมิฉะนั้นกิจการของโจทก์ย่อมเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ยังมีรถยนต์บรรทุกของโจทก์อีก 2 คัน โจทก์สามารถนำมาใช้แทนกันได้ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะเช่ารถยนต์บรรทุกอื่นมาแทนรถยนต์บรรทุกคันที่ได้รับความเสียหาย และเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเช่าวันละ 1,000 บาท มีกำหนดเวลา 90 วัน รวมเป็นเงินค่าเช่า 90,000 บาทเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับกุ้งสดโจทก์นำสืบว่า วันเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกของโจทก์บรรทุกกุ้งสดเป็นจำนวนเงิน 186,966 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16 จากจังหวัดระนองเพื่อนำไปจำหน่ายที่จังหวัดชุมพร และโจทก์ยังมีร้อยตำรวจตรีชาติงานพิทักษ์ พนักงานสอบสวน ซึ่งไปดูที่เกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้พบกุ้งสดตกเกลื่อนบนถนนที่เกิดเหตุ คดีจึงน่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้บรรทุกกุ้งสดเป็นเงิน 186,966 บาท แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์ไม่พยายามบรรเทาความเสียหายเกี่ยวกับกุ้งสด ศาลอุทธรณ์จึงได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับกุ้งสดเป็นเงิน 120,000 บาท นั้นเหมาะสมดีแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์บรรทุกนั้นเห็นว่า รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหายมากและต้องซ่อมรถเป็นเงินถึง 224,077 บาท รถยนต์บรรทุกก็ย่อมเสื่อมสภาพไปมากและที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์บรรทุกคันนี้เป็นเงิน 30,000 บาท นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share