แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ช.เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ล. ซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามรดกป. เป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับ ล. ดังนี้ ช. และ ป. ย่อมเป็นน้าและอาของเจ้ามรดก ทั้ง ช. และ ป. ย่อมเป็นญาติลำดับ 6 ใน มาตรา1629 เช่นเดียวกัน
ญาติลำดับ 6 ใน มาตรา 1629 นี้ กฎหมายไม่ได้แยกญาติชิดและห่างดังในลำดับ 3 และ 4
ญาติลำดับ 6 ในมาตรา 1629 ย่อมรับมรดกแทนที่กันได้ตาม มาตรา 1639
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภรรยานายทองพูน ๆ ตาย ไม่มีทายาทอื่นนอกจากนางเป้งซึ่งเป็นน้าผู้ตาย และเป็นมารดาโจทก์นางเป้งตายโจทก์เป็นผู้รับมรดกแทนที่ ขอส่วนแบ่งมรดกนายทองพูนจากจำเลย 1 ใน 3 จำเลยให้การว่านายทองพูนมีนางชื่นน้า นางคำอาว์เป็นญาติสนิทนางเป้งเป็นน้องร่วมบิดากับนางลายมารดานายทองพูนอย่างเดียวไม่ใช่ญาตินายทองพูน โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดก สมรสต้องแบ่งให้จำเลยกึ่งหนึ่ง จำเลยมีสินเดิม 8,000 บาท แต่ได้ใช้จ่ายไปหมดขอให้หักมรดกใช้สินเดิมของจำเลย และหักค่าปลงศพนายทองพูนอีก 5,000 บาท มรดกไม่มีเหลือจะแบ่งให้โจทก์และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นสอบถามเรื่องเครือญาติซึ่งคู่ความรับกันแล้ว สั่งงดสืบพยาน วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นญาติกับนางลายต่างมารดากัน โจทก์เป็นเพียงชั้นหลานคนละสายไม่อยู่ในเกณฑ์ลำดับทายาทตามกฎหมายที่จะมีสิทธิรับมรดกรายนี้ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางชื่น นางคำญาติสนิทของนายทองพูนไม่มีตัวอยู่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629กล่าวไว้ว่า ลุง ป้า น้าอาว์เป็นญาติลำดับเดียวกัน นายเป้งเป็นน้านายทองพูนโจทก์เป็นบุตรนางเป้ง จึงได้รับมรดกแทนที่นางเป้งโจทก์ก็ต้องได้รับมรดกนายทองพูนด้วย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องมรดกนายทองพูน ไม่ใช่มรดกนางลาย จะเอานางชื่นนางคำซึ่งเป็นพี่น้องของบิดามารดาเจ้ามรดกมาตัดสิทธิโจทก์ไม่ได้ นางเป้งมารดาโจทก์ นางชื่นนางคำเป็นญาติลำดับ 6 เช่นเดียวกับมาตรา 1639 อนุญาตให้ญาติลำดับ 6 รับมรดกแทนที่กันได้ โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาของตน
ศาลฎีกาเห็นว่า นางเป้งมารดาโจทก์ กับนางชื่น นางคำเป็นญาติลำดับ 6 ของนายทองพูนเช่นเดียวกัน แม้นางชื่น นางคำจะได้ยินยอมรับมรดกส่วนของเขาไปแล้ว ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในการรับมรดกแทนที่นางเป้งมารดาโจทก์ไม่
จึงพิพากษายืน