คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9423-9424/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยจะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือกระทำการแทนบริษัทจำเลยก็ต้องมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของบริษัทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คพิพาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับบริษัทร่วมกันกระทำผิด และกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญเนื่องจากมิได้ส่งผลให้ผู้แทนหรือนิติบุคคลพ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วย จึงไม่มีเหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กับนับโทษในคดีทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำหลายกรรมหลายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 15 เดือน (ที่ถูก จำเลยกระทำผิด 5 กระทง รวมจำคุก 15 เดือน)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทคลีนเอิรธ์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 บริษัทคลีนเอิรธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2223 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 17 ตารางวา พร้อมบ้านจากนางโสภาผู้เสียหาย ในราคา 1,250,000 บาท บริบัทดังกล่าวออกเช็คจำนวน 8 ฉบับให้ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าที่ดินและบ้านโดยมีจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัท ผู้เสียหายได้รับเงินตามเช็คฉบับแรกจำนวน 200,000 บาทแล้วส่วนเช็คที่เหลือ 7 ฉบับ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งหมด เช็คพิพาท 5 ฉบับ เป็นส่วนหนึ่งของเช็คที่บริษัทสั่งจ่ายชำระค่าที่ดินและบ้านให้ผู้เสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราชดำเนินรวม 5 ฉบับ มอบให้ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวระบุว่าจำเลยออกเช็คชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเป็นการส่วนตัว มิใช่กระทำการแทนนิติบุคคล แต่ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์กลับปรากฏว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คส่วนหนึ่งที่บริษัทคลีนเอิรธ์ (ประเทศไทย) จำกัด สั่งจ่ายเพื่อชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียหาย โดยจำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลงลายมือชื่อในเช็คพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้จำเลยร่วมรับผิดกับบริษัทฐานเป็นตัวการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง เห็นว่า จำเลยจะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือกระทำการแทนบริษัท จำเลยก็ต้องมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของบริษัทโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้ โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับบริษัทร่วมกันกระทำผิด และกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ เนื่องจากมิได้ส่งผลให้ผู้แทนหรือนิติบุคคลพ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วยจึงไม่มีเหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share