แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือรับรองของอัยการสูงสุดระบุว่า “เห็นว่ารูปคดีมีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย อัยการสูงสุดจึงรับรองฎีกาของโจทก์ เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป” ข้อความในหนังสือแสดงว่าอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้รับวินิจฉัย จึงรับรองให้โจทก์ฎีกา ถือได้ว่ามีการรับรองให้ฎีกาโดยชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221
จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปใช้ โดยนำไปติดไว้ที่รถยนต์กระบะของกลางใช้ขับไปตามถนนสาธารณะเพื่อให้เจ้าพนักงานหรือผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม เป็นเอกสารที่แท้จริง เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือผู้อื่นที่พบเห็นเข้าใจว่าเอกสารปลอมเหล่านั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง และเข้าใจว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 265, 268 และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 264 วรรคแรก) 265, 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของกลาง ยกคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 (ที่ถูกตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง) จำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนรถยนต์กระบะของกลางให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยโต้แย้งมาในคำแก้ฎีกาว่า หนังสือรับรองฎีกาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดเห็นว่ามีเหตุอันควรที่จะให้ศาลสูงสุดวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 นั้น เห็นว่า หนังสือรับรองของอัยการสูงสุดลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เอกสารท้ายฎีกา ระบุว่า “เห็นว่ารูปคดีมีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย อัยการสูงสุดจึงรับรองฎีกาของโจทก์ เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป” ข้อความในหนังสือดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย จึงรับรองให้แก่โจทก์ฎีกา กรณีย่อมถือได้ว่ามีการรับรองให้ฎีกาโดยชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 221 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 2 กระทง หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปใช้ โดยนำไปติดไว้ที่รถยนต์กระบะของกลางใช้ขับไปตามถนนสาธารณะเพื่อให้เจ้าพนักงานหรือผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม เป็นเอกสารที่แท้จริง เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าเอกสารปลอมเหล่านั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง และเข้าใจว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการแล้วนำไปติดไว้ที่รถยนต์กระบะใช้ขับไปตามถนนสาธารณะ เป็นเหตุให้รัฐไม่อาจควบคุมความปลอดภัยของสภาพรถรวมถึงปริมาณของรถ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวม และยังเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีรถยนต์ให้แก่รัฐตามกฎหมาย ทั้งกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการที่จะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดมานั้น หนักเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษ และไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2