คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 940/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยแสดงเท็จโดยออกเช็คแลกเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แต่ความจริงกลับเป็นว่าเช็คนั้นเป็นเช็คในบัญชีชื่อบุคคลที่ 3 ลายเซ็นชื่อในเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อบุคคลที่ 3 ทั้งไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค อีกนัยหนึ่ง ก็คือ จำเลยออกเช็คว่าเป็นของจำเลย แต่ความจริงกลับเป็นเช็คของคนอื่น จึงไม่มีการจ่ายเงิน และฟ้องกล่าวพร้อมด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ตามกฎหมายแล้วย่อมเป็นฟ้องฐานฉ้อโกงถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องบรรยายข้อความว่า “เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2502 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือจำเลยได้บังอาจหลอกลวงนายกุยเชี้ยง แซ่ตั้ง ด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยจำเลยออกเช็คของธนาคารศรีนครจำกัดสาขาสามแยก ฉบับหมายเลขที่ บี/1 101840 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2502 สั่งจ่ายเงินจำนวน 12,000 บาท ให้แก่นายกุยเชี้ยง แซ่ตั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนเงินสด ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. 2502 นายกุ้ยเชี้ยง แซ่ตั้งได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสามแยกในวันเดียวกันนั้น ธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสามแยก ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าลายเซ็นของผู้สั่งจ่าย ไม่ใช่ลายเซ็นของเจ้าของบัญชี คือ นายลิ่มจั๊ว และในวันครบกำหนดสั่งจ่ายตามเช็คฉบับดังกล่าวเงินในบัญชีของนายลิ่มจั๊วก็มีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต คิดฉ้อโกงเงินจำนวน 12,000 บาท ดังกล่าว ของนายกุยเชี้ยง แซ่ตั้ง มาแต่แรก เหตุเกิดตำบล….” ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กับ ให้ใช้ทรัพย์

จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำผิดดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า น่าเชื่อพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์ยิ่งกว่าฝ่ายจำเลย แต่ฟ้องของโจทก์ตอนต้นว่า จำเลยออกเช็คเองภายหลังกลับว่า เป็นเช็คของผู้อื่นไม่อาจรู้ความประสงค์ว่าโจทก์หมายความอย่างใดแน่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำบรรยายฟ้องพอเข้าใจได้ว่า จำเลยออกเช็คของบุคคลอื่นว่าเป็นของจำเลย และว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี แต่เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าลายเซ็นของผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายเซ็นของเจ้าของบัญชีเป็นการบรรยายการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ไม่เคลือบคลุม ส่วนข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นเชื่อพยานหลักฐานโจทก์ว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยฎีกา

ปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ดังบรรยายมาข้างต้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า เป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะตามคำบรรยายฟ้องเข้าใจข้อหาได้ดีว่าจำเลยแสดงเท็จโดยออกเช็คแลกเอาเงินสดของนายกุยเชี้ยงไปแต่ความจริงกลับเป็นว่า เช็คนั้นเป็นเช็คในบัญชีชื่อนายลิ่มจั๊วลายเซ็นชื่อในเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อนายลิ่มจั๊ว ทั้งไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค อีกนัยหนึ่งก็คือ จำเลยออกเช็คว่าเป็นของจำเลย แต่ความจริงกลับเป็นเช็คของคนอื่น จึงไม่มีการจ่ายเงิน ศาลชั้นต้นกลับไปถือเอาว่าโจทก์บรรยายฟ้องเช่นนี้เป็นการขัดกัน ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะความเท็จกับความจริงย่อมขัดกันอยู่เอง โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยแสดงเท็จอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร พร้อมด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 แล้ว และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องพิพากษายืน

Share