แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำบรรยายฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยแสดงเท็จโดยออกเช็คแลกเงินสดของผู้เสียหายไป แต่ความจริงกลับเป็นว่า เช็คนั้นเป็นเช็คในบัญชีชื่อบุคคลที่ 3 ลายเซ็นชื่อในเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อบุคคลที่ 3 ทั้งไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค อีกนัยหนึ่ง ก็คือ จำเลยออกเช็คว่าเป็นของจำเลย แต่ความจริงกลับเป็นเช็คของคนอื่น จึงไม่มีการจ่ายเงิน และฟ้องกล่าวพร้อมด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ตามกฎหมายแล้ว ย่อมเป็นฟ้องฐานฉ้อโกงถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2503)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องบรรยายข้อความว่า เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๐๒ เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือจำเลยได้บังอาจหลอกหลวงนายกุยเซื้ยง แซ่ตั้ง ด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยออกเช็คของธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสามแยก ฉบับหมายเลขที่ บี/๑ ๑๐๑๘๔๐ ลงวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๐๒ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท ให้แก่นายกุยเซี้ยง แซ่ตั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนเงินสด ต่อมาวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๐๒ นายกุ้ยเซี้ยง แซ่ตั้ง ได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ ธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสามแยก ในวันเดียวกันนั้น ธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสามแยก ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าลายเซ็นของผู้สั่งจ่าย ไม่ใช่ลายเซ็นของเจ้าของบัญชี คือนายลิ่มจั๊ว และในวันครบกำหนดสั่งจ่ายตามเช็คฉบับดังกล่าว เงินในบัญชีของนายลิ่มจั๊วก็มีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต คิดฉ้อโกงเงินจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท ดังกล่าว ของกุยเซี้ยง แซ่ตั้ง มาแต่แรก เหตุเกิดตำบล.. ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ กับให้ใช้ทรัพย์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำผิดดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า น่าเชื่อพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์ยิ่งกว่าฝ่ายจำเลย แต่ฟ้องของโจทก์ตอนต้นว่า จำเลยออกเช็คเอง ภายหลังกลับว่า เป็นเช็คของผู้อื่นไม่อาจรู้ความประสงค์ว่า โจทก์หมายความอย่างใดแน่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำบรรยายฟ้องพอเข้าใจได้ว่า จำเลยออกเช็คของบุคคลอื่นว่าเป็นของจำเลย และว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี แต่เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าลายเซ็นของผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายเซ็นของเจ้าของบัญชี เป็นการบรรยายการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แล้ว ไม่เคลือบคลุม ส่วนข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นเชื่อพยานหลักฐานโจทก์ว่า เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิด พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๒,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ดังบรรยายมาข้างต้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า เป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะตามคำบรรยายฟ้องเข้าใจข้อหาได้ดีว่า จำเลยแสดงเท็จโดยออกเช็คแลกเอาเงินสดของนายกุยเซี้ยงไป แต่ความจริงกลับเป็นว่า เช็คนั้นเป็นเช็คในบัญชีชื่อนายลิ่มจั๊ว ลายเซ็นชื่อในเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อนายลิ่มจั๊ว ทั้งไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค อีกนัยหนึ่ง ก็คือ จำเลยออกเช็คว่าเป็นของจำเลย แต่ความจริงกลับเป็นเช็คของคนอื่น จึงไม่มีการจ่ายเงิน ศาลชั้นต้นกลับไปถือเอาว่าโจทก์บรรยายฟ้องเช่นนี้เป็นการขัดกัน ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย เพราะความเท็จกับความจริงย่อมขัดกันอยู่เอง โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยแสดงเท็จอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร
พร้อมด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ตามกฎหมายแล้ว ย่อมเป็นฟ้องฐานฉ้อโกงถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แล้ว และฟ้องข้อเท็จจริงว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง พิพากษายืน