คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “อุตสาหกรรม” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ตอนท้ายนั้น หมายถึง กิจการที่มีการประดิษฐ์สิ่งของขึ้นเพื่อให้เป็นสินค้า ฉะนั้น การที่เจ้าของโรงพิมพ์ซื้อเชื่อกระดาษจากพ่อค้าเพื่อเอามาพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับจำหน่ายเป็นสินค้าเช่นนี้ จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้แล้ว แม้เจ้าของโรงพิมพ์จะมิใช่เป็นเจ้าของสินค้าที่ประดิษฐ์ขึ้น เป็นแต่ได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้างแรงงานเท่านั้นก็ตามเพราะผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำต้องเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่งของขึ้นจำหน่ายเป็นของตนเองเพียงแต่รับจ้างเขาประดิษฐ์สิ่งของให้เป็นสินค้าขึ้นก็เป็นการที่ได้ประกอบอุตสาหกรรมของตนแล้ว.
เมื่อผู้ล้มละลายเป็นเจ้าหนี้ อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมสะดุดหยุดลงในวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178.
(วรรค 2 ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2508).

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทอุดม จำกัด จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้แจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินค่ากระดาษที่ได้ซื้อเชื่อไปจากบริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลายเป็นเงิน ๓๐,๙๗๔ บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าไม่ได้มีหนี้สิน หรือถ้าหากจะมีก็ขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงยืนยันว่าผู้ร้อง เป็นหนี้บริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลายและหนี้สินรายนี้ยังไม่ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กิจการโรงพิมพ์ของผู้ร้องเป็นการประกอบอุตสาหกรรม ผู้ร้องเป็นหนี้บริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ อายุความจึงสะดุดหยุดลงหนี้ทั้งหมดยังไม่ขาดอายุความ มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องชำระเงินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลาย ๓๐,๙๗๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “อุตสาหกรรม” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) ตอนท้ายนี้ หมายถึงกิจการที่มีการประดิษฐ์สิ่งของขึ้นเพื่อให้เป็นสินค้า ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ ให้คำนิยามไว้ว่า อุตสาหกรรม น.การทำสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้า ตามข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องซื้อเชื่อกระดาษจากบริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลายเพื่อเอามาพิมพ์ เป็นหนังสือสำหรับจำหน่ายเป็นสินค้า การซื้อกระดาษเพื่อเอามาจัดการประดิษฐ์เป็นหนังสือขึ้นเพื่อให้เป็นสินค้าเช่นนี้ เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้คือผู้ร้องต้องตามความที่บัญญัติยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) นั้นแล้ว
ข้อโต้แย้งของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องมิใช่เป็นเจ้าของสินค้าที่ผู้ร้องประดิษฐ์ขึ้น เพราะผู้ร้องไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อขายเอากำไรเป็นของผู้ร้องเองต่อไป หากแต่ผู้อื่นเป็นเจ้าของผู้ร้องได้รับเพียงผลประโยชน์อันเป็นค่าจ้างแรงงานเท่านั้น ย่อมนำเอาข้อยกเว้นกำหนดอายุความ ๒ ปี ตามมาตรา ๑๖๕(๑) ตอนท้ายมาใช้ปรับแก่คดีนี้ไม่ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำต้องเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่ของขึ้นจำหน่ายเป็นของตนเอง เพียงแต่รับจ้างเขาประดิษฐ์สิ่งของให้เป็นสินค้าขึ้น ก็เป็นการที่ได้ประกอบอุตสาหกรรมของตนแล้ว
ข้อที่ผู้ร้องฎีกาต่อไปว่า อายุความมิได้สะดุดหยุดลงในวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ที่ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ผู้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ แต่เริ่มสะดุดหยุดลงในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องคัดค้านต่อศาล จึงเป็นเวลาเกิน ๕ ปี หนี้สินขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า อายุความตามสิทธิเรียกร้องซึ่งบริษัทอุดมจำกัด ผู้ล้มละลายมีอยู่ย่อมสะดุดอยู่ในวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ซึ่งในกรณีนี้ก็คือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๘ ดังที่ศาลนี้ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๑/๒๕๐๖ หนี้สินที่ผู้ร้องรับกระดาษไปเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๙๘ และที่ผู้ร้องรับกระดาษไปเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๘ จึงยังไม่ขาดอายุความ ๕ ปี
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ผู้ร้องชำระเงินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทอุดมจำกัดผู้ล้มละลาย ๒๔,๒๕๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้.

Share