คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ก. จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคาร ก. แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 จึงเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทน
จำเลยที่ 5 เป็นทนายความของบริษัท พ. ซึ่งรับจ้างดำเนินคดีล้มละลายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรับสำนวนต่อมาจากจำเลยที่ 7 ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 7 แก้ไขคำฟ้อง จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ไปสืบพยานเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จำเลยที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยาน ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนแทนการซักถาม และส่งเอกสารซึ่งมีแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ถูกต้องแล้วต่อศาล จึงเป็นการนำสืบถึงลูกหนี้ที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว มิใช่นำสืบว่าลูกหนี้คือโจทก์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด น่าจะเกิดจากความผิดหลงที่ไปพิจารณาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 7 ฟ้องโจทก์แต่ไม่ถอนฟ้องกลับใช้วิธีการแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว ยังไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ประมาทเลินเล่อ
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ขณะคดีอาญายังไม่เด็ดขาด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 46,452,692 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 39,830,846 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 นายวิชัย ไชยวงศ์ กับนางวนิดา ไชยวงศ์ สามีภริยากู้ยืมเงินและเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยได้จำนองทรัพย์สินซึ่งจำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 29688 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้คือบ้านเลขที่ 454/18 ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประกัน ซึ่งบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านของนายวิชัยและนางวนิดา ต่อมาทั้งสองไม่ชำระหนี้ ธนาคารเตรียมการฟ้องร้อง จึงไปขอคัดที่อยู่ของนายวิชัยและนางวนิดาที่สำนักทะเบียนเทศบาลนครเชียงใหม่ นายทะเบียนดำเนินการให้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยระบุว่า นายวิชัย ไชยวงศ์ เกิดเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2508 อายุ 32 ปี มารดาชื่อแน่งน้อย บิดาชื่อบุญมา ที่อยู่ 454/18 ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2530 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 11 มีนาคม 2540 และนางวนิดา ไชยวงค์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2504 อายุ 35 ปี มารดาชื่อดาว บิดาชื่อวิ ที่อยู่ 454/18 ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายเมื่อ 11 มีนาคม 2540 ตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ธนาคารโดยนายขวัญแก้ว เจริญศุข ทนายความ ฟ้องนายวิชัยและนางวนิดาต่อศาลชั้นต้นขอให้ชำระหนี้ 937,402.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 746,705.95 บาท หากไม่ชำระขอให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองและทรัพย์สินอื่นโดยแนบสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเบิกเงินบัญชีและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3443/2540 ในวันฟ้องนั้นเองธนาคารโดยนายขวัญแก้วทนายความยื่นคำแถลงยืนยันว่าทั้งนายวิชัยและนางวนิดามีที่อยู่ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลง หากส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ได้หรือไม่มีผู้รับก็ขอให้ปิดหมาย ปรากฏว่าทั้งตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าว ชื่อสกุลของทั้งนายวิชัยและนางวนิดาคือ ไชยวงค์ ถูกต้อง มิใช่ ไชยวงศ์ แต่คำฟ้องของธนาคารดังกล่าวระบุชื่อสกุลของทั้งนายวิชัยและนางวนิดาในช่องจำเลยและช่องขอยื่นฟ้องว่าไชยวงศ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ความไม่ถูกต้องของชื่อสกุลจึงเริ่มตั้งแต่ฟ้องคดีแพ่งครั้งนั้นแล้ว และมิได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม 2540 ธนาคารกับนายวิชัยและนางวนิดาทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยทั้งสองยอมชำระเงินตามฟ้อง หากไม่ชำระยอมให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองและทรัพย์สินอื่นตามคดีหมายเลขแดงที่ 5982/2540 โดยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ดี ตามคำพิพากษาตามยอมก็ดี ระบุชื่อสกุลของนายวิชัยและนางวนิดาว่า ไชยวงศ์ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ระบุว่าทุนจดทะเบียนแบ่งออกเป็น 600 ล้านหุ้น มีผู้อื่น 6 คน ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 2 ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น รวม 6 หุ้น นอกนั้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 1 จึงนับได้ว่าเป็นบริษัทในเครือของธนาคารดังกล่าว ในขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2543 นางวนิดา ไชยวงค์ เปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลเป็น นางพรปวีณ์ จอมใจ วันที่ 19 เมษายน 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง วันที่ 1 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 กระทำกิจการต่าง ๆ แทนรวมทั้งดำเนินคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีล้มละลาย และให้มีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการที่ได้รับมอบอำนาจได้ด้วย วันที่ 17 ธันวาคม 2547 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อนายวิชัย ไชยวงค์ และนางวนิดา ไชยวงค์ หรือนางพรปวีณ์ จอมใจ แก่จำเลยที่ 1 ทางจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของนายวิชัยและนางวนิดาแล้วทำรายงานไว้ ตามรายงานผลการดำเนินการสืบทรัพย์ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน (วันที่ 13 กรกฎาคม 2548) ซึ่งในช่องลูกหนี้-ผู้ค้ำประกัน ระบุว่า นายวิชัย ไชยวงค์หรือไชยวงศ์ นางวนิดาหรือพรปวีณ์ ไชยวงค์หรือไชยวงศ์หรือจอมใจ (ผู้กู้ร่วม) ในช่องผลการดำเนินการ ระบุว่า ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 13 สาขา ไม่พบนายวิชัย ไชยวงค์หรือไชยวงศ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่พบนางวนิดาหรือพรปวีณ์ ไชยวงค์หรือไชยวงศ์หรือจอมใจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง มีผู้ซื้อได้ จำเลยที่ 1 คำนวณหนี้หลังจากหักที่ขายทอดตลาดออกไปแล้ว ยังคงเป็นหนี้ต้นเงิน 746,705.95 บาท และเมื่อรวมดอกเบี้ยเข้าด้วยแล้วเป็นหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,553,514.16 บาท วันที่ 21 เมษายน 2549 นางพรปวีณ์ จอมใจ เปลี่ยนชื่อสกุลจากจอมใจเป็น ซาโตะ ฝ่ายบังคับคดีบริษัทสำนักงานกฎหมายกรุงศรีอยุธยา จำกัด ขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินและคัดสำเนาทะเบียนบ้านของลูกหนี้รายนายวิชัย ไชยวงศ์ และนางวนิดา ไชยวงศ์ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ถึงผู้จัดการฝ่าย ประจำฝ่ายบังคับคดี บริษัทสำนักงานกฎหมายกรุงศรีอยุธยา จำกัด ว่าดำเนินการแล้วไม่พบลูกหนี้ทั้งสองรายถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รายละเอียดปรากฏตามรายงานผลการดำเนินการสืบทรัพย์ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันดังกล่าว ได้ตรวจคัดและรับรองสำเนาทะเบียนบ้านนายวิชัยมาได้ 1 ฉบับ ส่วนสำเนาทะเบียนบ้านของนางวนิดา ไชยวงศ์ ไม่สามารถตรวจสอบและคัดรับรองได้ เนื่องจากไม่มีเลขประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของลูกหนี้ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 จำเลยที่ 7 ไปขอข้อมูลประวัติราษฎรสองคนจากเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 คนแรกคือนายวิชัย ไชยวงค์ ได้ข้อมูลประวัติมาซึ่งถูกต้อง ส่วนคนที่สอง แทนที่จำเลยที่ 7 ขอข้อมูลนางวนิดา ไชยวงค์ หรือนางปวีณ์ จอมใจ หรือนางปวีณ์ ซาโตะ กลับไปขอข้อมูลนางวนิดา ไชยวงศ์ ซึ่งตรงกับชื่อและชื่อสกุลของโจทก์ ก็ได้ข้อมูลประวัติของโจทก์มา โดยโจทก์เกิดเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2506 อายุ 44 ปี มารดาชื่อจันทร์เพ็ญ บิดาชื่อดี ที่อยู่ 224/330 หมู่ที่ 3 ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักทะเบียนอำเภอหางดง เข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร วันที่ 18 ธันวาคม 2550 จำเลยที่ 6 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แต่งจำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ตามสำเนาใบแต่งทนายความ วันเดียวกันจำเลยที่ 7 ในฐานะทนายความ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางโดยฟ้องนายวิชัย ไชยวงค์หรือไชยวงศ์ เป็นลูกหนี้ที่ 1 ในฟ้องระบุเลขประจำตัวประชาชนถูกต้อง และแทนที่จะฟ้องนางวนิดา ไชยวงค์ หรือนางพรปวีณ์ จอมใจ หรือนางพรปวีณ์ ซาโตะ ตามที่ถูกต้องแท้จริง กลับฟ้องโจทก์เป็นลูกหนี้ที่ 2 โดยในฟ้องระบุชื่อโจทก์ว่า นางวนิดา ไชยวงศ์ ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ของโจทก์ตรงตามที่จำเลยที่ 7 ไปขอคัดมาดังกล่าว มูลหนี้ที่นำมาฟ้องคือมูลหนี้ที่ยังคงค้างอยู่หลังจากขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นต้นเงิน 746,705.95 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 คิดถึงวันก่อนฟ้องล้มละลาย 1 วัน เข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 1,828,281.49 บาท ศาลรับฟ้องและนัดพิจารณาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ตามหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 14774/2550 วันที่ 7 มกราคม 2551 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 รองผู้จัดการฝ่ายบริหารงานคดีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กระทำกิจการต่าง ๆ แทนรวมทั้งดำเนินคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีล้มละลาย และให้มีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการที่ได้รับมอบอำนาจได้ด้วย ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ โจทก์เป็นกรรมการบริษัทพลัส ไพร์ออริตี้ จำกัด โดยบริษัทมีโจทก์เป็นกรรมการเพียงผู้เดียว สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบกิจการรับติดตั้งป้ายโฆษณา ปูพื้นไม้ลามิเนตในอาคารและบ้านพักอาศัยในโครงการใหญ่ ๆ ทั่วประเทศไทย นำเข้าวัสดุอุปกรณ์จำพวกไม้ต่าง ๆ จากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในกิจการและจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไปด้วย โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงจำเลยที่ 1 มีใจความว่า โจทก์ขอสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ทางสถาบันการเงินและคู่สัญญาทางธุรกิจของโจทก์ แจ้งโจทก์ว่าโจทก์อยู่ระหว่างถูกฟ้องล้มละลายโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ไม่เคยมีภาระหนี้หรือนิติกรรมอื่นใดกับจำเลยที่ 1 เลย ขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลว่าโจทก์มีภาระหนี้และถูกฟ้องล้มละลายจากจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ประการใด ตรวจสอบแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากการที่โจทก์มีชื่อในการถูกฟ้องดังกล่าวส่งผลต่อทั้งตัวโจทก์และธุรกิจของโจทก์อย่างมาก และโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ให้นายสุพจน์ไปขอคัดหรือถ่ายสำเนาสำนวนคำฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง โจทก์ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 4 มอบอำนาจช่วงแก่ผู้รับมอบอำนาจช่วงหลายคนรวมทั้งจำเลยที่ 5 ให้มีอำนาจดำเนินคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีล้มละลายด้วย ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงลงวันที่ 3 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 5 อายุ 28 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง และเป็นทนายความด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับอาชีพทนายความ ได้ทำงานอยู่ที่บริษัทไพร์ม แอสโซซิเอท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด วันที่ 3 มีนาคม 2551 ทางจำเลยที่ 1 ไปขอข้อมูลประวัติราษฎรของนางพรปวีณ์ ซาโตะ จากเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 2 มีนาคม 2551 เกิดเมื่อ 1 ธันวาคม 2504 อายุ 46 ปี มารดาชื่อดาว บิดาชื่อวิ ที่อยู่ 454/18 ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาอยู่เมื่อ 29 สิงหาคม 2545 ตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 7 ทำบันทึกลงวันที่ 5 มีนาคม 2551 รายงานผลคืบหน้าเสนอผู้เป็นหัวหน้างานกรณีชื่อลูกหนี้ที่ 2 มีใจความว่า ตามที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบเกี่ยวกับโจทก์ถูกฟ้องนั้น จำเลยที่ 7 ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ผิดจริง โดยลูกหนี้ที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อจากนางวนิดา ไชยวงศ์ เป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ รายละเอียดตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จึงเรียนมาเพื่อทราบและเห็นควรยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ผู้เป็นหัวหน้าสั่งในวันเดียวกันว่า ดำเนินการตามเสนอโดยเร็ว และแจ้งให้นางวนิดา ไชยวงศ์ ที่มิใช่ลูกหนี้ทราบด้วย ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โดยจำเลยที่ 7 ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 โดยขอแก้ไขชื่อ ลูกหนี้ที่ 2 เลขประจำตัวประชาชน อายุ ที่อยู่ จากโจทก์เป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ หรือ นางวนิดา ไชยวงศ์ และขอให้สั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่ลูกหนี้ที่ 2 อีกครั้ง ณ ภูมิลำเนาของลูกหนี้ที่ 2 ที่แก้ไขใหม่ หากไม่พบหรือไม่มีผู้รับหมายแทนก็ขอให้ปิดหมาย ค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายขอให้ศาลหักจากเงินวางประกันค่าใช้จ่ายในคดี พร้อมนี้เจ้าหนี้ ผู้แทนโจทก์ได้แนบแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ 2 มาด้วยแล้ว ศาลเพิ่งสั่งคำร้องนี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 ว่าอนุญาตให้แก้ฟ้อง ให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 2 ใหม่ ปิดหมายได้ ตามสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง และจำเลยที่ 7 มีหนังสือลงวันที่ 6 มีนาคม 2551 ถึงโจทก์ มีใจความว่า ตามที่โจทก์ได้ แจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบว่านางวนิดา ไชยวงศ์ ลูกหนี้ที่ 2 ในคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 14774/2550 เป็นบุคคลคนเดียว กับโจทก์หรือไม่ ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า บุคคลที่จำเลยที่ 1 ฟ้องมีชื่อและชื่อสกุลตลอดจนภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลเป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ ซึ่งเป็นบุคคลคนละคนกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งศาล และมีโทรสารไปยังโจทก์เพื่อทราบแล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ จึงเรียนมาเพื่อกราบขออภัยต่อโจทก์อีกครั้ง วันที่ 3 เมษายน 2551 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจ้างบริษัทไพร์ม แอสโซซิเอท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินคดีล้มละลาย หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไข คำฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้ไขในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 รวมทั้งแก้ไขที่อยู่จากที่อยู่ของโจทก์เป็นที่อยู่ ของลูกหนี้ที่ 2 ที่แท้จริงด้วยดังกล่าวแล้ว แต่ทางศาลล้มละลายกลางยังคงออกหมายเรียก คดีล้มละลายและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังโจทก์และที่อยู่ของโจทก์ ซึ่งก็คือตามหมายเรียกคดีล้มละลายลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ระบุว่า หมายถึง นางวนิดา ไชยวงศ์ ลูกหนี้ที่ 2 ได้ส่งสำเนาคำฟ้องและเอกสารมาให้พร้อมหมายนี้ ตามที่ศาลนัดนั่งพิจารณาคดีที่ศาลล้มละลายกลางในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 บัดนี้ ศาลสั่งยกเลิกนัดเดิม และได้กำหนดวันนัดนั่งพิจารณาคดีใหม่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ในหมายเรียกระบุที่อยู่ว่า 224/330 หมู่ที่ 3 ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานศาลของศาลชั้นต้นนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวไปส่งแทนศาลล้มละลายกลางโดยไปส่งที่บ้านเลขที่ 224/330 ซึ่งเป็นที่อยู่ของโจทก์ โดยการปิดหมายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 ต่อมาทางธุรการศาลล้มละลายกลางมีหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ถึงธุรการศาลชั้นต้นว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดนัด นั่งพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 นั้น ศาลล้มละลายกลางได้เลื่อนกำหนดนัดนั่งพิจารณาที่ศาลชั้นต้นไปในวันที่ 16 มกราคม 2552 เวลา 9.30 นาฬิกา ในการส่งหมายนัดซึ่งพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นในวันที่ 16 มกราคม 2552 แก่ลูกหนี้ที่ 2 นั้น ก็ยังคงส่งไปยังบ้านเลขที่ 224/330 ซึ่งเป็นที่อยู่ของโจทก์ และส่งโดยการปิดหมายนัดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2551 ทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นั้น จำเลยที่ 7 ทำบันทึกลงวันที่ 6 มกราคม 2552 เสนอผู้เป็นหัวหน้ามีใจความว่า ศาลนัดพิจารณาที่ศาลชั้นต้นในวันที่ 16 มกราคม 2552 เห็นควรโอนคดีให้สำนักงานทนายนอก ผู้เป็นหัวหน้าสั่งให้ส่งสำนักงานทนายความของบริษัทไพร์ม แอสโซซิเอท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทรับคดีนี้ไปดำเนินการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 บริษัทมอบหมายให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ดำเนินคดี และจำเลยที่ 5 รับคดีนี้มาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 และได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดีล้มละลายนี้ต่อดังกล่าว ก็ได้ตั้งตนเองเป็นทนายความคดีล้มละลาย ตามสำเนาใบแต่งทนายความลงวันที่ 13 มกราคม 2552 ครั้นถึงวันนัดพิจารณาที่ศาลชั้นต้นในวันที่ 16 มกราคม 2552 ฝ่ายเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีแต่จำเลยที่ 5 ผู้เดียวมาศาล ส่วนฝ่ายลูกหนี้ทั้งสองไม่มาศาล ศาลถือว่าลูกหนี้ทั้งสองขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว มีพยานฝ่ายเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มาเบิกความ 1 ปาก ซึ่งก็คือจำเลยที่ 5 ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และมีการส่งเอกสาร เป็นพยานหลักฐาน 15 ฉบับ คดีเสร็จการพิจารณาตามสำเนาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นลงวันที่ 16 มกราคม 2552 สำเนารายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 มกราคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นเองให้พิทักษ์ทรัพย์ของนายวิชัยลูกหนี้ที่ 1 และ นางวนิดา ไชยวงศ์ ลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีหนังสือ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้ระบุในส่วนของนายวิชัยลูกหนี้ที่ 1 ถูกต้อง แต่ในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ระบุว่า นางวนิดา ไชยวงศ์ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 224/330 หมู่ที่ 3 ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ตามสำเนาแจ้งคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด ซึ่งตามที่ระบุในส่วนที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 2 ดังกล่าวนั้นหมายถึงโจทก์ ผลก็คือโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2551 ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 2 จากโจทก์เป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ ไปแล้ว ต่อมาได้มีการลงในเวปไซต์ของกรมบังคับคดี รายงานข้อมูลบุคคลล้มละลายว่า บุคคลล้มละลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโจทก์รวมอยู่ด้วย ตามสำเนารายงานข้อมูลบุคคลล้มละลาย ต่อมาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โดยจำเลยที่ 5 ทนายความ ยื่นคำร้องลงวันที่ 12 มีนาคม 2552 ต่อศาลล้มละลายกลางว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อ ชื่อสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของลูกหนี้ที่ 2 ใหม่จากโจทก์เป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ หรือนางวนิดา ไชยวงศ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว แต่ตามสำนวนยังปรากฏชื่อชื่อสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของลูกหนี้ที่ 2 เดิมก่อนการแก้ไขคำฟ้อง ขอให้แก้ไข ในส่วนชื่อ ชื่อสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของลูกหนี้ที่ 2 ให้ถูกต้องตามที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้วนั้นด้วย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า เป็นบุคคลเดียวกัน จึงอนุญาตให้แก้ไขตามที่ขอ โดยให้คัดคำสั่งฉบับนี้ทุกครั้งที่มีการคัดถ่ายคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 5 ยื่นคำแถลงลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 ต่อศาลล้มละลายกลางว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 เจ้าพนักงานศาลแจ้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้นำส่งทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ 2 เพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขคำสั่งดังกล่าวจึงขอนำส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของนางพรปวีณ์ ซาโตะ ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้าย วันที่ 24 มีนาคม 2552 ตามสำเนาคำแถลงและสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ศาลล้มละลายกลางมีหนังสือลงวันที่ 31 มีนาคม 2552 แจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระบุในส่วนของนายวิชัยลูกหนี้ที่ 1 ถูกต้องเหมือนเดิม ในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ระบุว่า นางพรปวีณ์ ซาโตะ หรือนางวนิดา ไชยวงศ์ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 454/18 ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหมายเหตุว่า เป็นการแก้ไขหนังสือฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 และให้ยกเลิกฉบับเดิม (คือฉบับ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 นั่นเอง) ตามสำเนาหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในการที่โจทก์ถูกฟ้องล้มละลายจนถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาข้อหาเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตามสำเนาคำฟ้องลงวันที่ 3 เมษายน 2552 สำหรับการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศลงวันที่ 22 เมษายน 2552 ว่าศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสอง โดยในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ตามประกาศก็คือโจทก์ ต่อมาประกาศลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 แก้ไขในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 เป็นนางพรปวีณ์ ซาโตะ ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ยื่นคำแถลงลงวันที่ 29 กันยายน 2552 ขอคัดถ่ายสำนวนคดีล้มละลายเพื่อใช้ประกอบในการดำเนินคดีอาญา ศาลล้มละลายกลางตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ว่า การที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ผิดคน จะขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ได้ การที่ศาลรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 และอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้อง ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 2 ตลอดจนนั่งพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นรับฟ้องในส่วนลูกหนี้ที่ 2 เป็นต้นไป มีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะสำนวนลูกหนี้ที่ 2 ออกจากสารบบความ ให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ตาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2552 (คือเพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์เด็ดขาด) ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งนี้ ส่วนคดีอาญาที่ โจทก์ฟ้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2552 แต่พอถึงวันนัดโจทก์ขอเลื่อน อ้างเหตุเอกสารยังไม่ได้มา ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อน และเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานมาไต่สวนมูลฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ แล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ต่อมาคดีอาญานั้นศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีอาญาจึงเป็นที่สุด สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการต้องร่วมรับผิดด้วย แต่คดีในส่วนของจำเลยที่ 7 ขาดอายุความ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 2,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ด มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย โจทก์ฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 7 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อนี้ โจทก์มีนายสุพจน์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีแทน เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 7 ทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 มีจำเลยที่ 7 เบิกความว่า จำเลยที่ 7 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ พิจารณาคำเบิกความของนายสุพจน์และจำเลยที่ 7 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นดังกล่าว เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) โจทก์ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์และไม่ได้เป็นลูกหนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)และจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ลูกหนี้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีสองคนคือนายวิชัย ไชยวงค์ และนางวนิดา ไชยวงค์ สามีภริยา ซึ่งนางวนิดา ไชยวงค์ มิใช่โจทก์ แม้ชื่อลูกหนี้ของธนาคารคือนางวนิดา เหมือนกันกับชื่อโจทก์ แต่ชื่อสกุลไม่เหมือนกันโดยชื่อสกุลลูกหนี้ของธนาคารคือ ไชยวงค์ ส่วนชื่อสกุลโจทก์คือ ไชยวงศ์ กรณีจึงมิใช่ทั้งชื่อและชื่อสกุลเหมือนกันหรือพ้องกันดังที่ฝ่ายจำเลยอ้างและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยและยิ่งเมื่อได้พิจารณาจากหลักฐานเดิมคือ สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันที่ลูกหนี้ทั้งสองคนของธนาคารทำกับธนาคารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ก็ระบุชื่อและชื่อสกุลลูกหนี้ของธนาคารว่า นายวิชัย ไชยวงค์ และ นางวนิดา ไชยวงค์ ถูกต้อง ต่อมาปี 2540 ธนาคารฟ้องลูกหนี้สองคนนี้ก็ได้แนบหลักฐานดังกล่าวมาท้ายฟ้อง แต่ในคำฟ้องระบุชื่อสกุลของลูกหนี้ของธนาคารทั้งสองคนว่า ไชยวงศ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ความไม่ถูกต้องของชื่อสกุลจึงเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นยื่นคำฟ้องคดีแพ่งครั้งนั้นแล้ว อันเป็นความรับผิดชอบของทางฝ่ายธนาคาร ต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมในปีเดียวกัน ก็ระบุชื่อสกุลว่า ไชยวงศ์ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องและก็ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทางฝ่ายธนาคาร ธนาคาร หาอาจปฏิเสธได้ไม่ ต่อมาปี 2547 จำเลยที่ 1 รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ทั้งสองความรับผิดชอบของธนาคารดังกล่าวก็ย่อมโอนมายังจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน ปี 2548 ทางจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของนายวิชัยและนางวนิดาแล้วทำรายงานไว้ในสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตามรายงานผลการดำเนินการสืบทรัพย์ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน (วันที่ 13 กรกฎาคม 2548) ซึ่งในช่องลูกหนี้-ผู้ค้ำประกัน ระบุว่า นายวิชัย ไชยวงค์หรือไชยวงศ์ นางวนิดาหรือพรปวีณ์ ไชยวงค์ หรือไชยวงศ์หรือจอมใจ (ผู้กู้ร่วม) ในช่องผลการดำเนินการ ระบุว่า ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 13 สาขา ไม่พบนายวิชัย ไชยวงค์หรือไชยวงศ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่พบนางวนิดาหรือพรปวีณ์ ไชยวงค์หรือไชยวงศ์หรือจอมใจ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ตามรายงานนี้อย่างน้อยแสดงว่า ชื่อสกุลของลูกหนี้ที่ธนาคารระบุในคำฟ้องคดีแพ่งเมื่อปี 2540 ว่า ไชยวงศ์ แล้ว ยังมีชื่อสกุล ไชยวงค์ อีกด้วย กับทั้งยังมีชื่อพรปวีณ์และชื่อสกุล จอมใจ อีกด้วย เมื่อได้ความว่ารายงานนี้อยู่ในสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย เช่นนี้ จำเลยที่ 7 ทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ ควรต้องขอคัดชื่อทั้งวนิดาและพรปวีณ์ ชื่อสกุลทั้งไชยวงค์ ไชยวงศ์และจอมใจ ซึ่งหากขอคัดดังกล่าวต้องรู้ว่าลูกหนี้ที่แท้จริงมิใช่โจทก์อย่างมิต้องสงสัย แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ 7 ไปขอคัดมาเฉพาะชื่อและสกุลว่า นางวนิดา ไชยวงศ์ ซึ่งมิใช่ชื่อสกุลของลูกหนี้ธนาคารแต่เป็นชื่อสกุลของโจทก์เท่านั้น เพราะนางวนิดาที่เป็นลูกหนี้ธนาคารไม่มีชื่อสกุล ไชยวงศ์ แต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 7 ใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ดีอยู่ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ธนาคารผิดไปเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะดำเนินการถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยอันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง ทั้งชื่อของลูกหนี้และชื่อสกุลที่แก้ไขคำฟ้อง ก็เป็นชื่อและชื่อสกุลของโจทก์รวมอยู่ด้วย ทั้งที่ชื่อสกุล ไชยวงศ์ มิใช่ชื่อสกุลของลูกหนี้ธนาคารแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมาย ที่จำเลยที่ 7 ให้การและเบิกความว่า จำเลยที่ 7 ใช้ข้อมูลซึ่งเป็นคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งมาฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อโจทก์ขอให้ตรวจสอบ จำเลยที่ 7 ก็ตรวจสอบทันที เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นคนละคนกันก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตและให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่ลูกหนี้ที่แท้จริง จากนั้นได้มอบสำนวนให้ทนายความสำนักงานข้างนอกตามนโยบายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 7 ก็ได้แจ้งทนายความสำนักงานข้างนอกด้วยแล้วว่าลูกหนี้ได้เปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลและเป็นคนละคนกับโจทก์แล้วก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ลูกหนี้ที่ 2 มีชื่อและชื่อสกุลเช่นเดียวกันกับโจทก์ไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 7 สงสัยว่าชื่อและชื่อสกุลที่จำเลยที่ 7 ตรวจสอบก่อนฟ้องล้มละลายมิใช่ลูกหนี้ที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่ชื่อสกุลไม่ได้เป็นเช่นเดียวกันกับโจทก์ก็ดี ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 7 อุทธรณ์และแก้ฎีกาทำนองว่า เป็นความผิดของทางศาลด้วยที่คำพิพากษาตามยอมระบุชื่อสกุล ไชยวงศ์ และอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องนั้น เมื่อความไม่ถูกต้องของชื่อสกุลเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นยื่นคำฟ้องคดีแพ่งครั้งนั้นอันเป็นความรับผิดชอบของทางฝ่ายธนาคาร จนกระทั่งมาถึงจำเลยที่ 7 ที่ก่อนฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้ตรวจสอบให้ดีอันเป็นประมาทเลินเล่อ และขอแก้ไขคำฟ้องอันเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเช่นนี้ จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 7 จึงทำละเมิดต่อโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 7 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะนายจ้าง ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและในฐานะส่วนตัวด้วย กล่าวคือ ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 4 และที่ 7 ที่เบิกความว่า รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 7 ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ มิใช่เพียงลงชื่อเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เพียงอย่างเดียว ต้องถือว่าลงชื่อในฐานะลูกจ้างด้วย ทั้งจำเลยที่ 4 ก็เบิกความอยู่ว่า จำเลยอื่น ๆ (ผู้มอบอำนาจ) ยังมีหน้าที่ติดตามดูแลหรือมีอำนาจควบคุมดูแลและติดตามความคืบหน้าของงานคดีด้วย นอกจากนี้ข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 มีอำนาจดำเนินคดี ให้มีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการที่ได้รับมอบอำนาจได้ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ยืนยันรับผูกพันเสมือนได้กระทำด้วยตนเอง ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และเมื่อจำเลยที่ 4 มอบอำนาจช่วงให้จำเลยที่ 5 ดำเนินคดีก็ระบุข้อความไว้ด้วยว่า การใด ๆ ที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้กระทำภายใต้หนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เสมือนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการด้วยตนเองทุกประการ เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากผู้รับมอบอำนาจทำละเมิดต่อโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจก็ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้นเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รับผิดทั้งในฐานะนายจ้าง ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ และในฐานะผู้ทำละเมิดอันต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย จริงดังที่โจทก์ฎีกา ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 มีจำเลยที่ 7 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 4 มีจำเลยที่ 4 เบิกความเป็นพยาน และจำเลยที่ 5 มีจำเลยที่ 5 เบิกความเป็นพยาน จำเลยที่ 7 เบิกความในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 7 ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความมาตั้งแต่ปี 2537 เพิ่งประกอบอาชีพทนายความเมื่อประมาณ 5 ถึง 6 ปี ที่ผ่านมา (เบิกความวันที่ 25 มกราคม 2554) จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 มีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตามหนังสือรับรองและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 7 ได้รับเงินเดือนจากธนาคารดังกล่าว ไม่ได้รับค่าจ้างว่าความจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เบิกความว่า ประมาณปี 2550 ถึง 2552 จำเลยที่ 4 ทำงานอยู่ที่ธนาคารดังกล่าว ตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายบริหารงานคดี มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานของธนาคารและทนายความที่ว่าจ้างให้ดำเนินคดี จำเลยที่ 4 ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 กับเบิกความด้วยว่า จำเลยที่ 7 เป็นทนายความได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 5 เบิกความว่า จำเลยที่ 5 มีอาชีพรับจ้างและเป็นทนายความด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับอาชีพทนายความได้ทำงานอยู่ที่บริษัทไพร์มแอสโซซิเอท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างดำเนินคดีล้มละลายให้จำเลยที่ 1 นอกจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยที่ 4 แล้ว ยังได้รับมอบหมายจากบริษัทดังกล่าวให้ดำเนินคดีล้มละลายที่มีปัญหามาถึงคดีนี้ ดังนี้ ตามฟ้องและคำเบิกความดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทนด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำการในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และตามพฤติการณ์ไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าทำละเมิดด้วย จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 4 และที่ 6 ตามพฤติการณ์ก็ไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าทำละเมิดไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวเช่นกัน สำหรับจำเลยที่ 5 มีข้อพิจารณาว่า จำเลยที่ 5 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความว่า แม้จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงมาจากจำเลยที่ 4 ด้วย แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ทนายความที่รับสำนวนต่อมาจากจำเลยที่ 7 ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ทนายความ ฟ้องคดีล้มละลายและขอแก้ไขคำฟ้อง ซึ่งศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้อง และให้เลื่อนไปนัดนั่งพิจารณาในวันที่ 16 มกราคม 2552 ไว้แล้ว จำเลยที่ 5 จึงได้รับสำนวนมา โดยจำเลยที่ 5 ได้รับสำนวนมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 หน้าที่สำคัญของจำเลยที่ 5 คือไปสืบพยานเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในวันที่ 16 มกราคม 2552 ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มาศาล ในการสืบพยานจำเลยที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยาน ส่งบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนแทนการซักถาม และอ้างส่งเอกสารในคดีล้มละลาย 15 ฉบับ แล้วแถลงหมดพยาน เอกสาร 15 ฉบับ นั้น สั่งให้รวมไว้ในสำนวนคดีล้มละลาย ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น มีข้อความด้วยว่าลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลธรรมดา มีภูมิลำเนาปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ซึ่งเอกสารนี้มีข้อพิจารณาว่าเป็นแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรฉบับใด ในระหว่างฉบับของโจทก์กับฉบับของนางพรปวีณ์ ลูกหนี้ที่ 2 ของคดีล้มละลาย ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังเอกสารได้สูญหายไปจากสำนวนคดีล้มละลาย พิจารณาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ที่ว่า ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 2 อีกครั้ง ณ ภูมิลำเนาของลูกหนี้ที่ 2 ที่แก้ไขใหม่ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้แนบแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ของลูกหนี้ที่ 2 มาด้วยแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีที่หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้อง ทางศาลยังคงพิมพ์หมายเรียกและหมายนัดถึงโจทก์และระบุที่อยู่ของโจทก์กับส่งไปยังที่อยู่ของโจทก์และเอกสารสูญหายไปจากสำนวนคดีล้มละลายแล้ว น่าเชื่อว่าแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ที่จำเลยที่ 5 อ้างส่งนั้นเป็นฉบับของนางพรปวีณ์ มิใช่ฉบับของโจทก์ เมื่อการที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขคำฟ้องตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 5 รับสำนวนมา น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 เข้าใจโดยสุจริตว่า เมื่อศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้อง การแก้ไขคำฟ้องก็เป็นอันชอบด้วยกฎหมาย การนำสืบพยานโดยจำเลยที่ 5 ที่กล่าวถึงลูกหนี้ที่ 2 ด้วยการส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของนางพรปวีณ์ จึงเป็นการนำสืบถึงนางพรปวีณ์ ที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว มิใช่นำสืบว่าลูกหนี้ที่ 2 คือ โจทก์ ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด น่าจะเกิดจากความผิดหลงที่ไปพิจารณาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของโจทก์ ซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการไม่ถูกต้องในการพิจารณาคดีหรือพิจารณาพยานหลักฐานอันสืบเนื่องมาจากที่ระบุชื่อสกุลในฟ้องคดีแพ่งเมื่อปี 2540 ผิดพลาด และมาจากกรณีที่จำเลยที่ 7 ฟ้องโจทก์แต่ไม่ถอนฟ้องทั้งที่รู้ว่าฟ้องผิดไปเป็นคนละคนกลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว จึงยังไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 5 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ หรือไม่ และคำให้การของจำเลยที่ 7 ในส่วนที่ให้การว่าคดีขาดอายุความแล้วเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มีสาเหตุมาจากจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลาย ซึ่งฟ้องเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มีการแจ้งและการส่งหมายนัดแก่โจทก์หลายครั้ง ตลอดทั้งได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล เช่น การเบิกความ การแสดงหลักฐานที่โจทก์อ้างว่าได้นำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ซึ่งโจทก์ล้วนได้รับทราบถึงวันนัดพิจารณาแล้ว จนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คือวันที่ 9 มีนาคม 2553 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในมูลความผิดละเมิดตามฟ้องจึงขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 7 ให้การในประเด็นอายุความลอย ๆ เพียงว่า คดีขาดอายุความแล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีอาญาด้วย ฟ้องของโจทก์คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มีอายุความ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 มิได้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาด้วย จึงมีอายุความ 1 ปี โจทก์ทราบว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลตามสำเนาหนังสือ วันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน นับถึงวันฟ้องคดีนี้ แต่ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ขาดอายุความ 1 ปี แล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ไม่ขาดอายุความ เพราะในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ยังไม่ได้ตรวจสอบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์จึงยังรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ครบถ้วน โดยจำเลยที่ 7 แจ้งว่าจะแก้ไขให้ ต่อเมื่อโจทก์ทราบว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงตรวจสอบเพื่อฟ้องคดี จึงเพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และสามารถนำอายุความ 10 ปี มาใช้กับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้ด้วย ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 7 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และเมื่อศาลวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ขาดอายุความ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการย่อมขาดอายุความด้วย ซึ่งปัญหาเรื่องอายุความศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีจำเลยหลายคนถูกฟ้องต่างคนต่างยื่นคำให้การ ตามปกติศาลก็ต้องพิจารณาคำให้การของจำเลยแต่ละคนเป็นหลัก ในการยื่นคำให้การว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่าอายุความเท่าใด เริ่มนับแต่เมื่อใดที่จะให้ถือว่าเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องขาดอายุความแล้ว จึงจะมีประเด็นให้วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่จำเลยที่ 7 ให้การลอย ๆ เพียงว่า คดีขาดอายุความนั้น เป็นการที่มิได้แสดงโดยชัดแจ้งดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ขาดอายุความหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นเรื่องอายุความว่าฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ขาดอายุความหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาว่าคำให้การจำเลยก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นนี้มาด้วย ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้น เมื่อฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ไม่มีประเด็นว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 7 ผู้ทำละเมิดจึงยังคงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้ว ส่วนปัญหาของอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ขณะที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่ได้วินิจฉัย โจทก์อุทธรณ์และฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 7 ก็แก้อุทธรณ์แก้ฎีกามาด้วยแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่เช่นกัน เห็นว่า ในการวินิจฉัยค่าเสียหายว่าจะพึงใช้เพียงใด ต้องวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ใช้ค่าเสียหาย 5 รายการ รวมเป็นเงินต้นเงิน 39,830,846 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 46,452,692 บาท รายละเอียดแต่ละรายการปรากฏตามที่กล่าวในฟ้องข้างต้นแล้ว ศาลชั้นต้นกำหนดให้รายการแรก 20,000 บาท รายการที่สอง 10,000 บาท รายการที่สาม 500,000 บาท รายการที่สี่ 500,000 บาท ส่วนรายการที่ห้า ศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ผลตอบแทนจากผลกำไรของบริษัทที่บริษัทถูกยกเลิกสัญญาไม่ได้ทำงานจึงไม่ได้กำไรจากการทำงานในโครงการที่ได้ทำสัญญาไว้เป็นเงิน 1,500,000 บาท รวมค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ทั้งสิ้น 2,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ที่โจทก์อุทธรณ์ฎีกาว่า ควรกำหนดค่าเสียหายรายการแรก 50,000 บาท รายที่สอง 20,000 บาท รายการที่สาม 5,000,000 บาท รายการที่สี่ 5,000,000 บาท และรายการที่ห้า 8,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นดังที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้น และคำนึงถึงอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของฝ่ายจำเลยที่กล่าวอ้างทำนองว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากความผิดของทางฝ่ายโจทก์เองด้วยแล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นเหมาะสมดีแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแต่ละรายการเป็นเงินเท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด รวมเป็นเงิน 2,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ ให้รวม 50,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share