คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9340/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าจำเลยขอปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าการฟ้องคดีของพันตำรวจเอกร.เป็นการสมรู้ร่วมคิดกับโจทก์โดยตรงจำเลยจึงไม่ต้องผูกพันกับคำพิพากษาท้ายฟ้องโจทก์เมื่อการฟ้องของโจทก์ไม่สุจริตโจทก์จึงหามีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ดังนี้คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความตอนหนึ่งตอนใดได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยได้กล่าวอ้างมาเลยว่าที่พันตำรวจเอกร.ฟ้องโจทก์และจำเลยกับพวกนั้นพันตำรวจเอกร. ได้ร่วมกับโจทก์กระทำการอย่างใดอันเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันนำคดีดังกล่าวมาฟ้องเพื่อให้โจทก์มาฟ้องจำเลยให้รับผิดเป็นคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อสนับสนุนคำให้การของจำเลยเมื่อคำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องนำสืบศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย การที่โจทก์และจำเลยถูกพันตำรวจเอกร.เป็นโจทก์ฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อทำให้พันตำรวจเอกร.เสียหายและคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยถึงที่สุดฟังว่าเหตุเกิดจากการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งได้กระทำไปในฐานะผู้แทนโจทก์และพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่พันตำรวจเอกร. คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคหนึ่งคดีนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อพันตำรวจเอกร.ในขณะจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเมื่อโจทก์ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาคดีก่อนแก่พันตำรวจเอกร.แล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา76.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยรับราชการในกองทะเบียนซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์ในตำแหน่งรองสารวัตร แผนกทะเบียนรถยนต์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2526พันตำรวจเอกรังสิต ญาโนทัย ได้ยื่นคำแจ้งความขอโอนและรับโอนรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์รุ่น 300 ดีหมายเลขทะเบียน 8ก-8939 กรุงเทพมหานคร ต่อนายทะเบียนของโจทก์ และจำเลยได้ทำการตรวจสอบรถยนต์หลักฐานการขอโอนและรับโอนรถยนต์คันดังกล่าวโดยจำเลยไม่ตรวจต้นทะเบียนที่เก็บรักษาที่แผนกทะเบียนรถยนต์กับคู่มือการจดทะเบียนให้ดีว่ารายการในเอกสารดังกล่าวตรงกันหรือไม่ และลายมือชื่อของนายทะเบียนในเอกสารดังกล่าวตรงกันหรือไม่เป็นเหตุให้จำเลยไม่รู้ว่ามีการปลอมใบคู่มือการจดทะเบียนจึงได้อนุญาตให้โอนและรับโอนรถยนต์คันดังกล่าวมาเป็นของพันตำรวจเอกรังสิต ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรตรวจสอบพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์คันที่นำเข้าประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อวัยที่ 23 กุมภาพันธ์ 2526ร้อยตำาวจโทวิฑูรย์ พิทักษ์กรราษฎร์ เจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนรถยนต์ กองกำกับการ 3 กองทะเบียนได้แจ้งให้พันตำรวจเอกรังสิตทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถที่นำเข้าประเทศไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พันตำรวจเอกรังสิตไม่สามารถโอนรถยนต์คันดังกล่าวต่อไปได้ และไม่สามารถใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้ตามปกติต่อมาเมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2527 พันตำรวจเอกรังสิตได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1พลตำรวจตรีทวี พงษ์ประสาท เป็นจำเลยที่ 2พันตำรวจเอกประสาท พิบูลย์วงศ์ เป็นจำเลยที่ 3จำเลยนี้เป็นจำเลยที่ 4 และสิบตำรวจโทสมเกียรติ นิลพัฒน์เป็นจำเลยที่ 5 ต่อศาลชั้นต้น ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 811,625 บาท ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2428/2527 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยและโจทก์ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พันตำรวจเอกรังสิตจำนวน700,105 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องจำเลยอื่นต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ได้นำเงินไปชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลฎีกาจำนวน 1,065,730.04 บาทให้แก่พันตำรวจเอกรังสิตแล้วโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จำนวนเงินดังกล่าวจากจำเลยได้ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,065,730.04 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องการตรวจสอบหลักฐานการขอโอนรถยนต์คันดังกล่าวและการลงลายมือชื่อรับรอง ตรายางลายมือชื่อของนายทะเบียนจำเลยได้กระทำไปตามขั้นตอน และเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจดังกล่าวและถูกต้องตรงตามความเป็นจริงจึงรับรองไป จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อการฟ้องคดีของพันตำรวจเอกรังสิต ญาโนทัย เป็นการสมรู้ร่วมคิดกับโจทก์โดยตรง จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันตามคำพิพากษา เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และจำเลยไม่ขอรับรองว่าเอกสารท้ายฟ้องจะสมบูรณ์ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริตโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเมื่อพิจารณาตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยในขณะเกิดเหตุนั้นจำเลยไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยหาต้องผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่าพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ ได้มอบอำนาจให้พลตำรวจตรีภักดี เศรษฐบุตรเป็นผู้ฟ้องคดีนี้แทนพันตำรวจเอกรังสิต ญาโนทัย ได้ฟ้องโจทก์และจำเลยกับบุคคลอื่นให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่พันตำรวจเอกรังสิตเพื่อละเมิดตามคดีแพ่งหมายเลขดำที2428/2527 ของศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำฟ้องเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 3940/2533 ให้โจทก์และจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่พันตำรวจเอกรังสิตจำนวน700,105 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,065,730.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน40,513.15 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า คำให้การจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ต้องผูกพันตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3940/2533 เพราะพันตำรวจเอกรังสิต ญาโนทัยสมรู้ร่วมคิดกับโจทก์ในการฟ้องคดีดังกล่าว และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต เป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 หรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองได้บัญญัติไว้ว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” จำเลยให้การในข้อ 1.3 ว่าจำเลยขอปฏิเสธฟ้องข้อ 3 ของโจทก์ว่า การฟ้องคดีของพันตำรวจเอกรังสิต ญาโนทัย เป็นการสมรู้ร่วมคิดกับโจทก์โดยตรงจำเลยจึงเห็นว่าไม่ต้องผูกพันกับคำพิพากษา ท้ายฟ้องโจทก์แต่ประการใด และได้ให้การในข้อ 1.4 ว่า เมื่อการฟ้องของโจทก์ไม่สุจริตดังที่กราบเรียนมาในคำให้การข้อ 1.3 โจทก์จึงหามีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่เห็นได้ว่า จากข้อความตามที่จำเลยได้ให้การมาดังกล่าวข้างต้นทั้ง 2 ข้อ ไม่มีข้อความตอนหนึ่งตอนใดได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยได้กล่าวอ้างมาเลยว่าที่พันตำรวจเอกรังสิตฟ้องโจทก์และจำเลยกับพวกนั้นพันตำรวจเอกรังสิตได้ร่วมกับโจทก์กระทำการอย่างใดอันเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันนำคดีดังกล่าวมาฟ้องเพื่อให้โจทก์มาฟ้องจำเลยให้รับผิดเป็นคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อสนับสนุนคำให้การของจำเลย เมื่อคำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องนำสืบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบแล้ว
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สองว่าจำเลยมีหน้าที่เพียงตรวจสอบเอกสารเท่านั้น ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการทำนิติกรรมหรือจดทะเบียนรถยนต์แทนโจทก์จำเลยจึงไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ ไม่ต้องผูกพันชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยถูกพันตำรวจเอกรังสิตเป็นโจทก์ฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อทำให้พันตำรวจเอกรังสิตเสียหายและคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาที่3940/2533 ซึ่งถึงที่สุดฟังว่าเหตุเกิดจากการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งได้กระทำไปในฐานะผู้แทนโจทก์และพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่พันตำรวจเอกรังสิต คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง คดีนี้จึงฟังได้ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อพันตำรวจเอกรังสิตในขณะจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเมื่อโจทก์ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาคดีก่อนแก่พันตำรวจเอกรังสิตแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
พิพากษายืน

Share