คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่า โดยเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 24 เดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน พอดี แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ และปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่า 24 เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่ารถยนต์จำนวน ๑ คัน ไปจากโจทก์ มีกำหนดระยะเวลาการเช่า ๓๘ เดือน โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารวม ๒๔ เดือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่โจทก์อาจเรียกจากจำเลยที่ ๑ ได้เป็นเงิน ๙๖๑,๔๙๑.๓๖ บาท และค่าปรับสำหรับค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นเงิน ๔๘๘,๓๒๐ บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาและนำรถยนต์ที่เช่าออกประมูลขายได้เงินเพียง ๖๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ สัญญาว่าจะจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ในส่วนต่างของราคาขายสุทธิกับราคา ๖๖๘,๒๒๔.๓๐ บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้ค่าขาดราคาเป็นเงิน ๖๘,๒๒๔.๓๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๑,๕๑๘,๐๓๕.๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๑๕ ต่อปี และค่าปรับในอัตราวันละ ๒๒ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าและภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าเช่า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่า โดยเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน ๒๔ เดือน เป็นเงินจำนวน ๙๖๑,๔๙๑.๓๖ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน ๒๔ เดือน เป็นเงิน ๙๖๑,๔๙๑.๓๖ บาท พอดี แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายก็ตาม แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน ๒๔ เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าในระหว่างที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซึ่งไม่ถูกต้องตรงความจริง ดังนั้น เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ และปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระย่อมมีกำหนดอายุความสองปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๖) ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว หาใช่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนดสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อันอายุความเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระมีกำหนดสองปีตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๖) นี้ เริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าเช่า ๒๔ เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๘ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในเรื่องฟ้องเรียกค่าเช่าขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ แต่ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๕,๐๐๐ บาท.

Share