แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารสิทธิที่มีการปลอมและนำไปใช้ไม่จำต้องเป็นของโจทก์ เพียงแต่มีการนำเอกสารที่รับฟังได้ว่ามีการปลอมไปใช้เป็นผลเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 11 พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 3, 4, 12, 17, 18, 19, 22, 25 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84, 86, 90, 91, 137, 157, 161, 162 (1), 162 (2), 179, 180, 264, 265, 266 (1), 266 (5), 267, 268, 391, 392
ระหว่างไต่สวน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157, 161, 162 (1), 162 (2), 179, 180, 266 (1), 266 (5), 267, 391 และมาตรา 392 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ จำเลยที่ 1 เป็นสมุห์บัญชีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาหาดใหญ่ มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกเอกสาร ปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและกฎหมายของธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานตำแหน่งผู้จัดการพิเศษฝ่ายกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นนิติกรอาวุโสฝ่ายกฎหมายของธนาคารอาคารสงเคราะห์ นายสิริวัฒน์ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ในขณะนั้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยเกี่ยวกับมูลนิธิศักดา-อัญชลี ณรงค์ โดยมีนายชัยธวัช เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์โดยนายสิริวัฒน์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย โดยมีนางกรองสิญจน์ เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ต่อมาธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีคำสั่งให้ลงโทษโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีโจทก์มีมูลสำหรับความผิดฐานจำเลยทั้งสามเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นคดีแรงงานต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยโจทก์ทุกคำสั่ง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า นายสิริวัฒน์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเป็นคู่กรณีมีสาเหตุโกรธเคืองเป็นปฏิปักษ์มีความขัดแย้งกับโจทก์ เนื่องจากต้องการที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้พ้นจากการเป็นพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นอีก 9 คน ต่อศาลแรงงานกลาง แต่คดีดังกล่าวโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นจำเลยร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์แต่อย่างใด อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงาน โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางนำมาเป็นข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ จึงไม่ถือเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาฟังเป็นยุติในคดีนี้ และไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสามซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยกับพวกที่กำลังสืบหาตัวอยู่ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย เห็นว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้อย่างไร และในการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการ ผู้ที่ลงนามแต่งตั้งคือนายสิริวัฒน์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่โจทก์ก็มิได้ฟ้องนายสิริวัฒน์เป็นจำเลยร่วมด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งสองชุด ปรากฏตามคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ พ.134/2541 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวมี 4 คน มีนายชัยธวัช เป็นประธานกรรมการ นายประยุทธ เป็นกรรมการ นายวัฒนา เป็นกรรมการ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ พ.24/2542 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 5 คน มีนางกรองสิญจน์ เป็นประธานกรรมการ นายสมศักดิ์ และนายอดุล เป็นกรรมการ นายโชติช่วง เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกตั้งเป็นกรรมการ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เพิ่มเติมเป็นเลขานุการ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งตามปกติถือว่าทั้งสองคนเป็นผู้มีตำแหน่งหรืออาวุโสต่ำสุดในคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว และการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการร่วมกัน อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดหรือลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งชุด มิได้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 แต่เพียงผู้เดียวแต่อย่างใด ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมอย่างไรกับนายสิริวัฒน์ที่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้นายสิริวัฒน์ตั้งตนเป็นกรรมการและเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพวกของนายสิริวัฒน์ ซึ่งมีความขัดแย้งรุนแรงกับโจทก์เรื่องการแข่งขันเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หากเป็นจริงก็มิใช่พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่จะมารับฟังว่าคดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานนี้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงไม่มีมูลในความผิดฐานนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมมีมูลหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษ… ตามความหมายของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว เอกสารสิทธิที่มีการปลอมหรือนำมาใช้ไม่จำต้องเป็นเอกสารของโจทก์ แต่หากมีการนำเอกสารที่รับฟังได้ว่ามีการปลอมมาใช้เป็นผลเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความเพิ่มเติมอันเป็นข้อความเท็จเพื่อให้ข้อความที่เพิ่มเติมนั้นตรงกับข้อกล่าวหา ที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย โดยมีการเติมข้อความในใบฝากเงินข้ามเขตเพื่อเข้าบัญชีของนายทรงเดช และนำมาใช้เป็นหลักฐานในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดทางวินัยของโจทก์ ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามนั้น ก็ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจากการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเติมข้อความในใบฝากเงินข้ามเขตของธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่ได้ความจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นสมุห์บัญชีธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาหาดใหญ่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการสาขาหาดใหญ่ให้ดูแลกล่องรับเงินบริจาคสีน้ำเงินมีข้อความระบุว่า มูลนิธิศักดา-อัญชลี ณรงค์ และมีตราธนาคารอาคารสงเคราะห์แบบเก่าติดอยู่ที่กล่องซึ่งจัดส่งมาจากสำนักงานใหญ่ เงินมูลนิธิจะใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีพนักงานในสำนักงานใหญ่ จำเลยที่ 1 เคยโอนเงินหลายครั้ง บางครั้งก็ระบุในสลิปว่าเป็นเงินมูลนิธิ บางครั้งก็ไม่ได้ระบุ ในการโอนเงินมูลนิธิจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีนายทรงเดช โดยไม่ได้เก็บเงินค่าธรรมเนียมเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นของธนาคาร จากคำให้การแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนข้อความว่ายกเว้นค่าธรรมเนียมโอนเข้ามูลนิธิและข้อความมูลนิธิศักดา-อัญชลี ณรงค์ ในใบฝากเงินข้ามเขตตั้งแต่ตอนที่จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีนายทรงเดช จึงต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าใบฝากเงินข้ามเขตเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น ส่วนข้อความที่มีการตกเติมในภายหลังในใบฝากเงินมีข้อความในลักษณะยืนยันต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีการทำใบฝากเงินข้ามเขตเมื่อใดหรือเพื่อมูลนิธิใดเท่านั้น มิได้มีการแก้ไขตัวเลขจำนวนเงินหรือวัตถุประสงค์ในการโอนเงินแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ในส่วนนี้มีเพียงตัวโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมใบฝากเงินข้ามเขต แม้โจทก์จะมีนายทรงเดชมาเบิกความเป็นพยาน แต่นายทรงเดชก็เบิกความแต่เพียงว่า มีการโอนเงินตามใบฝากเงินข้ามเขตเข้าบัญชีซึ่งมีชื่อของตนเป็นเจ้าของบัญชีจริง แต่ไม่ใช่เงินมูลนิธิ โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าที่จำเลยที่ 1 เขียนข้อความเพิ่มเติมในใบฝากเงินภายหลังเป็นการเติมข้อความถึงการมีอยู่ของเอกสารต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในฐานะที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำใบฝากเงินข้ามเขตเท่านั้น และที่มีการรับรองสำเนาใบฝากเงินว่าถ่ายมาจากสำนวนการสอบสวนจริง โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางวินัยเป็นผู้รับรองนั้น มิใช่เป็นการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเนื้อความของใบฝากเงินข้ามเขตต้นฉบับให้มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบจึงไม่มีมูลให้รับฟังว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมและใช้ใบฝากเงินข้ามเขตซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมตามฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในความผิดฐานนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลสำหรับความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน