แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1และที่2มีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุที่กำหนดให้จำเลยที่1มีหน้าที่เบิกจ่ายและให้ยืมวัสดุแบบพิมพ์แก่หน่วยงานของโจทก์ที่ขอเบิกและยืมเก็บรักษาใบยืมและติดตามหน่วยงานที่ขอยืมให้ทำใบเบิกเพื่อชดใช้การยืมให้เสร็จสิ้นและจำเลยที่2มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่1การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นไม่ปรากฏว่าการเบิกจ่ายวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้กระทำโดยไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาส่วนหลักฐานการลงบัญชีรับ-จ่ายการเก็บรักษาวัสดุแบบพิพม์ของเจ้าหน้าที่ก็มีการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการทุกประการแม้ผู้ยืมจะรับวัสดุแบบพิมพ์ไปก่อนโดยเขียนใบยืมไว้แต่ยังไม่ตัดจ่ายออกจากบัญชีดังนั้นจำนวนวัสดุแบบพิมพ์คงเหลือจึงน้อยกว่าจำนวนคงเหลือในบัญชีเมื่อมีการตรวจนับในภายหลังทำให้ของขาดบัญชีได้และทางปฏิบัติในการยืมยังไม่รัดกุมพอไม่มีการทำทะเบียนควบคุมใบยืมและใบยืมไม่มีการอนุมัติตามขั้นตอนโดยจำเลยที่1และที่2ละเลยไม่สนใจติดตามให้ผู้ยืมทำใบเบิกเพื่อตัดออกจากบัญชีหรือทำใบยืมสูญหายแต่เมื่อวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้ถูกยืมไปใช้ในทางราชการไม่ได้สูญหายไปโดยเหตุอื่นการละเลยของจำเลยที่1และที่2จึงเป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายส่วนจำเลยที่3และที่4เป็นลูกจ้างประจำตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุกำหนดให้เป็นผู้ช่วยจำเลยที่2ประจำห้องครัววัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่1ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่2ไม่มีหน้าที่เก็บรักษาลูกกุญแจเปิดปิดคลังวัสดุและไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารใบเบิกหรือใบยืมจำเลยที่3และที่4มีหน้าที่เพียงจัดขนส่งวัสดุแบบพิมพ์มอบให้แก่หน่วยงานที่ขอเบิกหรือขอยืมตามคำสั่งของจำเลยที่2เท่านั้นจำเลยที่3และที่4จึงไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในเหตุที่วัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ขาดจากบัญชีดังกล่าวข้างต้นด้วย จำเลยที่3และที่4ให้การว่ายอมร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามรายการดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์คำให้การของจำเลยที่3และที่4จึงหมายความว่ายอมร่วมกับจำเลยที่1และที่2ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามรายการดังกล่าวในกรณีที่จำเลยที่1และที่2ต้องรับผิดเท่านั้นมิใช่คำให้การยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เมื่อจำเลยที่1และที่2ให้การปฏิเสธซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่3และที่4ด้วยและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะให้จำเลยที่3และที่4รับผิดต่อโจทก์อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ 4 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสายงานคลังพัสดุ มีหน้าที่ควบคุมปกครอง บังคับบัญชาการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ 3ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำปฏิบัติหน้าที่ช่วยจำเลยที่ 2ในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ 1 ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับพัสดุทางราชการได้วางระเบียบให้ข้าราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2522 และตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุ กองอากรและพัสดุที่ 15/2529 ลงวันที่ 3 เมษายน2529 เรื่องมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการและจำเลยได้ทราบระเบียบและคำสั่งดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่23 มีนาคม 2530 โจทก์ได้ตรวจสอบพบว่า วัสดุและแบบพิมพ์ของโจทก์ที่เก็บรักษาไว้ในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ 1เมื่อระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2530ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสี่ได้สูญหายขาดบัญชีไปรวม39 รายการคิดเป็นเงิน 667,633.90 บาท จำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อร่วมกันกระทำการและปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งดังกล่าว ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ไม่ช่วยควบคุมดูแลรักษาวัสดุและแบบพิมพ์ที่อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 จนมีผู้เอาออกไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวและทรัพย์สินของโจทก์ในห้องคลังวัสดุดังกล่าวขาดหายไปไม่ตรงกับบัญชียอดวัสดุคงเหลือ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันและแทนกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 667,633.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน667,633.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในสายงานจ่ายแบบพิมพ์ ในการรับแบบพิมพ์และจ่ายแบบพิมพ์ตามคำขอเบิกแบบพิมพ์ จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบทุกประการจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติงานของข้าราชการหรือลูกจ้างในสายวานคลังวัสดุสำนักงานแบบพิมพ์ รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนข้อบังคับหรือคำสั่งใด ๆจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนที่โจทก์ได้วางไว้โดยเคร่งครัด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า ตามที่โจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีละเมิดตามรายการบัญชีวัสดุและแบบพิมพ์ที่สูญหายเอกสารหมายเลข 2เป็นเงิน 667,633.90 บาท นั้น ยอมร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์บางรายการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ในระหว่างพ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2530 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และส่วนราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุครุภัณฑ์สำนักงานของโจทก์ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบวัสดุ เครื่องเขียนแบบพิมพ์ต่าง ๆของโจทก์ที่เก็บรักษาไว้ในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1ผลการตรวจสอบพบว่า มีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องเขียนและแบบพิมพ์ขาดหายไปจากบัญชีหลายสิบรายการคิดเป็นเงิน 600,000 บาทเศษจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น ต่อมานายบัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ผลการสอบสวนของคณะกรรมการมีความเห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่วัสดุ อุปกรณ์เครื่องเขียน แบบพิมพ์ที่เก็บรักษาไว้ในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 สูญหายขาดบัญชีไป ตามรายงานผลการสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งรองอธิบดีและอธิบดีโจทก์ได้ทราบแล้ว อธิบดีโจทก์ได้สั่งให้ดำเนินการตามความเห็นของรองอธิบดีต่อไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ทำตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่ สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1และที่ 2 ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้าราชการสังกัดโจทก์ จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ 4ทำหน้าที่หัวหน้าสายงานคลังพัสดุ ส่วนจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ 3 ทำหน้าที่หน้าห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มีห้องคลังวัสดุสำหรับเก็บรักษาวัสดุ อุปกรณ์เครื่องเขียนและแบบพิมพ์สำหรับใช้ในราชการ 3 ห้อง แต่ละห้องมีกุญแจสำหรับปิดเปิดห้องละ 2 ดอกตามคำสั่งของหัวหน้าฝ่ายพัสดุกองอากรและพัสดุที่ 15/2529ลงวันที่ 3 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1และที่ 2 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาลูกกุญแจทั้ง 3 ห้องห้องละ 1 ดอก ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นคนเก็บลูกกุญแจห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 ไว้ 1 ดอก นั้น แม้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.4 หน้า 19 จะมีความเห็นว่าการเก็บรักษาลูกกุญแจเปิดปิดห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1ไม่รัดกุมเพียงพอ โดยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะไม่ใส่กุญแจของจำเลยคนใดคนหนึ่งซึ่งอาจเปิดลิ้นชักได้ เป็นการปล่อยปละละเลยในการเก็บรักษาลูกกุญแจ แต่ตามบันทึกรายงานความเห็นของนายประมูล วิเชียรสินธุ์ผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับข้าราชการกระทำผิดวินัยเสนออธิบดีตามเอกสารหมาย จ.8 และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ได้ความโดยแน่ชัดว่า มีการขนย้ายวัสดุแบบพิมพ์ออกจากห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 หรือมีวัสดุแบบพิมพ์สูญหายไปเนื่องจากการเก็บรักษากุญแจห้องไม่รัดกุมดังกล่าว ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาลูกกุญแจห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้ผู้อื่นนำลูกกุญแจไปเปิดห้องคลังวัสดุดังกล่าวและนำวัสดุแบบพิมพ์ออกไปโดยพลการ จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่า เมื่อมีการเบิกจ่ายวัสดุหรือยืมวัสดุจากห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ควบคุมให้มีการลงบัญชีจำหน่ายให้ถูกต้องตามระเบียบ เพื่อให้ยอดวัสดุในบัญชีถูกต้องตรงกับจำนวนที่คงเหลือและมิได้จัดการให้มีการทำบัญชีใบยืมวัสดุไว้เป็นหลักฐานเป็นเหตุให้วัสดุของโจทก์ขาดหายไปนั้น ทางพิจารณาได้ความว่าหน่วยงานของโจทก์ในต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานครอาจเบิกวัสดุอุปกรณ์เครื่องเขียน แบบพิมพ์จากคลังวัสดุไปใช้สอยได้โดยทำใบเบิกตามแบบพิมพ์ พ.1 เสนอขออนุมัติเบิกต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเมื่อได้รับอนุมัติและมีการเบิกจ่ายไปแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องนำรายการที่ขอเลิกในแบบพิมพ์ พ.1 ไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีตัดยอดวัสดุจากบัญชีใหญ่ที่ฝ่ายงานพัสดุ และบัญชีย่อยที่ห้องคลังวัสดุ หากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอาจมีการขอยืมไปใช้ก่อนโดยทำใบยืมไว้เป็นหลักฐาน แต่ยังไม่มีการตัดยอดวัสดุที่ยืมจากบัญชีจนกว่าจะมีการทำใบเบิกตามแบบพิมพ์ พ.1 มาตัดยอดจากบัญชีสำหรับวัสดุที่ขาดหายจากบัญชี 39 รายการตามฟ้องโจทก์นั้นตามรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 ประกอบรายงานของนายประมูล วิเชียรสินธุ์ ผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ตามเอกสารหมาย จ.8 ได้ความว่าไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าวัสดุขาดจากบัญชีจากสาเหตุใดใน 3 ประการ คือ 1. ไม่นำแบบพิมพ์พ.1 ให้สายงานบัญชีเพื่อตัดยอดจากบัญชี 2. มีการให้ยืมวัสดุแบบพิมพ์แล้วไม่ติดตามให้ผู้ยืมทำใบเบิกตามแบบพิมพ์ พ.1 เพื่อใช้คืนและตัดยอดจากบัญชี 3. มีการขนย้ายวัสดุแบบพิมพ์จากห้องคลังวัสดุเนื่องจากการเก็บรักษากุญแจห้องคลังวัสดุไม่รัดกุม ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าไม่อาจรับฟังได้ จึงเหลือเพียงกรณีที่ 1 และที่ 2ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่าไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าวัสดุได้สูญหายหรือขาดบัญชีในช่วงระยะเวลาใด ตามเอกสารหมาย จ.8 ปรากฏว่าในระหว่าง พ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2530 ได้มีคณะกรรมการตรวจสอบวัสดุที่สูญหายขาดบัญชีในห้องคลังวัสดุของโจทก์ รวมทั้งการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรวม 7 ชุด ตรวจสอบในเวลาใกล้เคียงกันรวม 7 ครั้งปรากฏว่าในแต่ละครั้งมีรายการวัสดุสูญหายมากบ้างน้อยบ้างไม่ตรงกัน ตามรายงานของนายประมูล วิเชียรสินธุ์ เอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 2 ได้ระบุไว้ว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่แต่ละชุดพบว่ามีปัญหาในเรื่องใบยืมยังมิได้นำมาตัดยอดบัญชีประกอบกับมีการรับวัสดุและจ่ายไป ยอดบัญชีจึงมีการพันยอดตลอดมา ดังนั้นจึงได้ถือเอายอดการตรวจสอบครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 7) ซึ่งได้ปรับปรุงแล้วเป็นยอดวัสดุขาดบัญชีรวม 39 รายการ เป็นเงิน 667,633.90 บาทนอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายบริบูรณ์ กิจลิปปนันท์หัวหน้างานพัสดุว่า มีวัสดุที่ระบุว่าขาดหายไปจากบัญชี เช่นผ้าพิมพ์ดีดขนาด 1/2 นิ้ว และขนาด 1 1/2 นิ้ว ได้ตรวจพบภายหลังตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3 และจำเลยที่ 4 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ตรวจพบวัสดุที่ขาดบัญชีในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 จำนวน 20 กว่ารายการได้ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไปแล้วตามเอกสารหมาย ล.26นอกจากนี้ยังมีวัสดุบางรายการหน่วยงานที่ยืมไปได้ใช้คืนให้บางส่วนอีกทั้งตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจรับวัสดุชุดต่าง ๆ ได้นำใบยืมวัสดุมาหักออกจากจำนวนวัสดุที่ขาดหายไปจากบัญชีด้วยหรือไม่ แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายชัยพัฒน์ ฉายาเกียรติพงษ์ กรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งว่าวัสดุที่หักออกจากบัญชีนั้นถือตามใบเบิก พ.1เท่านั้น ส่วนวัสดุที่ยืมไปตามใบยืมไม่มีการหักออกจากบัญชีจนกว่าจะมีใบเบิก พ.1 มาชดใช้ และที่กรมโจทก์ได้มีการยืมวัสดุไปก่อนเป็นประจำด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำนวนวัสดุแบบพิมพ์ต่าง ๆ ในห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1 ที่ขาดจากบัญชีมีจำนวนไม่แน่นอนเหตุที่ขาดบัญชีเพราะไม่มีการนำใบเบิก พ.1 ไปหักบัญชีที่สายงานบัญชีหรือมีการให้ยืมวัสดุไปแล้วไม่ติดตามให้ผู้ยืมทำใบเบิก พ.1เพื่อใช้คืนและตัดยอดจากบัญชี แสดงว่าวัสดุและแบบพิมพ์ของโจทก์ที่ขาดบัญชีได้ถูกเบิกจ่ายและยืมไปใช้ในทางราชการของโจทก์ไม่ได้สูญหายไปเพราะเหตุอื่นแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุ กองอากรและพัสดุที่15/2529 เอกสารหมาย จ.1 ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เบิกจ่ายและให้ยืมวัสดุแบบพิมพ์แก่หน่วยงานของโจทก์ที่ขอเบิกและยืม เก็บรักษาใบยืมและติดตามหน่วยงานที่ขอยืมให้ทำใบเบิกเพื่อชดใช้การยืมให้เสร็จสิ้น และจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ตามรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 ประกอบกับบันทึกรายงานของนายประมูล วิเชียรสินธุ์เอกสารหมาย จ.8 ไม่ปรากฏว่าการเบิกจ่ายวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้กระทำโดยไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างใด ส่วนหลักฐานการลงบัญชีรับ-จ่าย การเก็บรักษาวัสดุแบบพิมพ์ของเจ้าหน้าที่ก็มีการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการทุกประการแม้จะฟังตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนในหน้า 19 เอกสารหมาย จ.4ว่า ผู้ยืมจะรับวัสดุแบบพิมพ์ไปก่อนโดยเขียนใบยืมไว้ แต่ยังไม่ตัดจ่ายออกจากบัญชีดังนั้นจำนวนวัสดุแบบพิมพ์คงเหลือจึงน้อยกว่าจำนวนคงเหลือในบัญชี เมื่อมีการตรวจนับในภายหลังทำให้ของขาดบัญชีได้ และทางปฏิบัติในการยืมยังไม่รัดกุมพอไม่มีการทำทะเบียนควบคุมใบยืมและใบยืมไม่มีการอนุมัติตามขั้นตอน โดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ละเลยไม่สนใจติดตามให้ผู้ยืมทำใบเบิกเพื่อตัดออกจากบัญชีหรือทำใบยืมสูญหาย แต่เมื่อฟังว่าวัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ได้ถูกยืมไปใช้ในทางราชการไม่ได้สูญหายไปโดยเหตุอื่น การละเลยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำตามคำสั่งของฝ่ายพัสดุกองอากรและพัสดุที่ 15/2529 เอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 2 ประจำห้องคลังวัสดุสำนักงานและแบบพิมพ์ที่ 1ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เก็บรักษาลูกกุญแจเปิดปิดห้องคลังวัสดุและไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารใบเบิกหรือใบยืม จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหน้าที่จัดขนส่งวัสดุแบบพิมพ์มอบให้แก่หน่วยงานที่ขอเบิกหรือขอยืมตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังที่เบิกความเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในเหตุที่วัสดุแบบพิมพ์ของโจทก์ขาดจากบัญชีดังกล่าวข้างต้นด้วย
โจทก์ฎีกาขัดต่อไปว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับวัสดุที่สูญหายไปจากบัญชีบางรายการจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามรายการนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า ยอมร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์บางรายการดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4จึงหมายความว่ายอมร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามรายการดังกล่าว ในกรณีที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องรับผิดเท่านั้น มิใช่คำให้การยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แต่อย่างใดเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้การปฏิเสธ ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่มีมูลที่จะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์อีก ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน