คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการยื่นคำร้องขอฝากขังนั้นพนักงานสอบสวนเพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จและมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำการสอบสวนคดีต่อไปอีกจึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาตามกำหนดเวลาเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังรวมถึงเอกสารท้ายคำร้องจึงหาได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำร้องขอฝากขังไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เมื่อข้อหาดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารแนบท้ายคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์มาประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี 3 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด หมายเลข 08 2624 6148 และ 09 6874 7875 จำนวน 2 เครื่อง ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า สั่งในคำขออนุญาตฎีกา และมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตฎีกาว่า ส่งศาลฎีกาพิจารณา สำเนาให้อีกฝ่ายเพื่อทราบ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นนัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของโจทก์ว่า ให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาภายใน 15 นับแต่วันที่ฟังคำสั่งศาลฎีกา โดยศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงคำสั่งของศาลฎีกาที่สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา และคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ 1 ก. หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ก. สรุปได้ความว่า จำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกาย ซึ่งในวันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยที่ 1 ฟัง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เมื่อข้อหานี้กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจึงสามารถพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 เมื่อศาลมิได้สืบพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ 1 ก. แล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารแนบท้ายคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ด้วยนั้น เห็นว่า ในการยื่นคำร้องขอฝากขังนั้นพนักงานสอบสวนเพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จและมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำการสอบสวนคดีต่อไปอีก จึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาตามกำหนดเวลาที่ขออนุญาตเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังรวมถึงเอกสารท้ายคำร้องจึงหาได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำร้องขอฝากขังไม่ การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 /1 วรรคสองด้วย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นจำคุก 8 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share