คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้นายจ้างปฏิบัติตามไม่เป็นการโต้แย้งสิทธินายจ้างที่จะมาฟ้องต่อศาลได้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “บุคคลใดจะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งได้ต่อเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิทางศาล ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บทบัญญัตินี้นำมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลแรงงานด้วยโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ส่วนมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติที่กล่าวนี้เป็นบทบัญญัติเรื่องอำนาจของศาลแรงงานโดยให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ หาได้หมายความว่าเป็นการให้อำนาจแก่บุคคลซึ่งแม้มิได้มีประโยชน์เกี่ยวข้องก็อาจเสนอคดีตามที่ระบุไว้ต่อศาลแรงงานได้ไม่ คดีนี้คำเตือนของจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ปฏิบัติตามเพราะหากโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ดังนั้น การที่จำเลยให้คำเตือนแก่โจทก์จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและให้เพิกถอนคำเตือน”

พิพากษายืน

Share