คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 68 พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 เป็นบทเพิ่มโทษซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติฝิ่นซ้ำอีก หลังจากพ้นโทษในการกระทำผิดครั้งแรกไปยังไม่ครบสามปีแสดงว่าไม่เข็ดหลาบ จึงต้องเพิ่มโทษให้หนักกว่าโทษที่ลงในการกระทำความผิดครั้งแรก และเมื่อศาลได้เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่นแล้ว จะเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยอันเป็นการเพิ่มโทษจำเลยถึงสองทางหาได้ไม่
การเพิ่มโทษตามมาตรา 68 พระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ. 2472แม้จะมิได้บัญญัติให้วางโทษสำหรับการกระทำผิดครั้งหลังที่มีโทษจำคุกและปรับไว้ ศาลก็ชอบที่จะวางโทษทั้งจำทั้งปรับจึงจะต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีมูลฝิ่นหนัก 3 กรัม ราคา 30 บาท และกล้องสูบฝิ่นพร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์การสูบฝิ่นไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 3 เดือน ฐานมีฝิ่นไม่รับอนุญาต พ้นโทษมายังไม่ครบ 3 ปี มากระทำผิดในคดีนี้อีกไม่เข็ดหลาบ ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 11, 34, 53 ทวิ, 66, 68, 69 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2502 มาตรา 6 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับในข้อต้องโทษและพ้นโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่นทุกมาตราที่กล่าวในฟ้องที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย พระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ. 2472 มาตรา 68 กำหนดไว้ว่า ถ้าความผิดครั้งหลังเป็นโทษปรับหรือจำคุก ให้วางโทษทั้งปรับทั้งจำ แต่ถ้าเป็นโทษปรับและจำคุกเช่นกรณีนี้ มิได้กำหนดไว้ ทั้งจะเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติฝิ่นมีวิธีการเพิ่มโทษเป็นพิเศษแล้วจึงเพิ่มโทษฐานมีมูลฝิ่นไม่ได้ ให้จำคุกจำเลยฐานมีมูลฝิ่น 8 เดือนฐานมีกล้องสูบฝิ่นในฐานที่จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่นและพ้นโทษมายังไม่ครบ 3 ปี ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 200 บาทเป็นจำคุก 9 เดือน ปรับ 200 บาท ลดโทษเพราะรับสารภาพให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกไว้ 4 เดือน 15 วัน และปรับ 100 บาท ของกลางริบบังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์ขอให้วางโทษจำเลยฐานมีมูลฝิ่นทั้งจำคุกและปรับตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 68 และเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ด้วย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติฝิ่นมีวิธีการเพิ่มโทษบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ทั้งโจทก์มิได้ขอมาในฟ้องจะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 มาใช้ไม่ได้ และกำหนดการเพิ่มโทษฐานมีมูลฝิ่นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 68ต้องวางโทษทั้งจำคุกและปรับ พิพากษาแก้ ให้เพิ่มโทษจำเลยฐานมีมูลฝิ่นตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 68 เป็นจำคุก 8 เดือนปรับ 2,000 บาท รวมเป็นจำคุก 9 เดือน ปรับ 2,200 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน 15 วันปรับ 1,100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งในข้อหาฐานมีมูลฝิ่นและมีกล้องสูบฝิ่นตามมาตรา 92 ประมวลกฎหมายอาญา อีกด้วย

จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ชอบ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในเรื่องการวางโทษหรือเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 กับการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 สำหรับปัญหาแรก มาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ.2472 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบ 3 ปี กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก

(1) ถ้าโทษซึ่งกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำครั้งหลังเป็นโทษปรับหรือจำคุกก็ให้วางโทษทั้งปรับทั้งจำ

(2) ถ้าโทษซึ่งกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำครั้งหลังเป็นแต่เพียงโทษปรับ ก็ให้ปรับเป็นตรีคูณ

แต่มิได้บัญญัติในเรื่องโทษสำหรับความผิดครั้งหลัง หากเป็นโทษทั้งจำคุกและปรับดังเช่นคดีนี้ ซึ่งจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 53 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 7 พ.ศ. 2502มาตรา 6 มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับสิบเท่าราคาฝิ่นหรือมูลฝิ่นนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองพันบาท ดังนี้ เห็นว่า มาตรา 68 พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 เป็นบทเพิ่มโทษซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติฝิ่นซ้ำอีกหลังจากพ้นโทษในการกระทำผิดครั้งแรกไปยังไม่ครบสามปี แสดงว่า ไม่เข็ดหลาบ จึงต้องเพิ่มโทษให้หนักกว่าโทษที่ลงในการกระทำความผิดครั้งแรก และเมื่อศาลได้เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่นแล้ว จะเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย อันเป็นการเพิ่มโทษจำเลยถึงสองทางหาได้ไม่

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าไม่ควรจะเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่นเพราะกฎหมายมิได้กำหนดการวางโทษในกรณีนี้ไว้โดยแจ้งชัดนั้นเห็นว่า แม้แต่โทษจำหรือปรับซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าพระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ. 2472 มาตรา 68 ยังได้บัญญัติให้วางโทษสำหรับการกระทำผิดครั้งหลังทั้งจำทั้งปรับ เมื่อการกระทำผิดครั้งหลังมีโทษทั้งจำและปรับ ศาลก็ชอบที่จะวางโทษทั้งจำและปรับจึงจะต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย พิพากษายืน

Share