แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายทั้งสองเป็นมารดาและตาซึ่งเป็นบุพการีของจำเลย จำเลยใช้ค้อนที่ถืออยู่ในมือขณะตอกตะปูฝาบ้านตีผู้เสียหายที่ 1 แทบจะในทันทีที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามให้หยุดตอกตะปู และใช้ค้อนดังกล่าวตีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่คนละบ้านในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อพิจารณาความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายทั้งสองแล้ว เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามปรามจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในขณะนั้น ประกอบกับจำเลยเจ็บป่วยทางจิตประสาทมานานหลายปีแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองคงมีเพียงเจตนาจะทำร้ายร่างกายเท่านั้น
ขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาอยู่ในเรือนจำ จำเลยก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยกันหลายรายเป็นการผิดปกติ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีจึงมีหนังสือขออนุญาตศาลส่งตัวจำเลยไปรับการตรวจวินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผลการตรวจพบว่าจำเลยมีอาการจิตหวาดระแวง ขณะประกอบคดีไม่รู้ผิดชอบ ขณะนี้สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยได้บันทึกถึงความผิดปกติในการพูดของจำเลยมีลักษณะควบคุมเรื่องที่พูดไม่ได้และมีอาการไม่ปกติ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องผลการวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงในคดีที่ศาลรับฟังได้ และเมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยป่วยทางจิตประสาทมาหลายปี พยานหลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าขณะทำความผิดจำเลยมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย เมื่อจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้วก็เดินออกจากบ้านพักเพื่อไปมอบตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่พบ จึงเดินย้อนกลับมา ระหว่างทางผ่านบ้านของผู้เสียหายที่ 2 จึงเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยเดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยยังพอจะมีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 91, 80, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (1) ประกอบมาตรา 80 จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่องแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างและยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 20 ปี รวมจำคุก 40 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 20 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้จากทางนำสืบของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยพักอาศัยอยู่กับนางละม้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาที่บ้านเลขที่ 32/4 หมู่ที่ 3 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตลอดมา จนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 เวลา 23 นาฬิกาเศษ จำเลยใช้ค้อนตอกตะปูที่ฝาบ้าน ผู้เสียหายที่ 1 เกรงจะรบกวนเพื่อนบ้าน จึงบอกให้จำเลยเลิกทำ ขณะนั้นเองไฟฟ้าดับ ผู้เสียหายที่ 1 จุดตะเกียงแล้วใช้ไม้กวาดกวาดพื้นเก็บเศษไม้ที่จำเลยทิ้งไว้ จำเลยใช้ค้อนตีผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะและใบหน้าหลายทีจนผู้เสียหายที่ 1 ล้มลงหมดสติไป จำเลยเดินออกไปนอกบ้าน พักหนึ่งผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกตัว จึงร้องเรียกให้คนช่วยนำส่งโรงพยาบาลชลประทาน ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2545 จำเลยเดินเข้าไปในบ้านของนายเสนาะ ผู้เสียหายที่ 2 ตาของจำเลยซึ่งอาศัยอยู่ที่ข้างบ้านของจำเลย จำเลยใช้ค้อนตีผู้เสียหายที่ 2 ที่ศีรษะ 2 ที กำลังจะตีซ้ำอีก นายสุวิทย์ซึ่งเป็นน้าของจำเลยเข้าไปแย่งค้อนจากจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีออกไปจากบ้าน นายสุวิทย์พาผู้เสียหายที่ 2 ส่งโรงพยาบาลชลประทานเช่นเดียวกัน ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บ จำเลยไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุและยึดค้อนที่จำเลยใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายทั้งสองนั้นเป็นเจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้ายร่างกาย เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองต่างก็เป็นบุพการีของจำเลยโดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นมารดาของจำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 2 เป็นตาของจำเลย จำเลยใช้ค้อนที่ถืออยู่ในมือขณะตอกตะปูฝาบ้านตีผู้เสียหายที่ 1 แทบจะในทันทีที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามให้หยุดตอกตะปูเพราะดึกแล้วเสียงดังเกรงจะรบกวนเพื่อนบ้าน และใช้ค้อนตัวเดียวกันถือเดินไปตีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่คนละบ้านในเวลาต่อเนื่องกัน ด้วยความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายทั้งสองดังกล่าว เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเพียงพูดห้ามปรามมิให้ตอกตะปูในเวลากลางคืนเท่านั้น ส่วนผู้เสียหายที่ 2 นั้นไม่ปรากฏสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับจำเลยในขณะนั้นเลย ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านได้ความว่า จำเลยเจ็บป่วยทางจิตประสาทหลายปีแล้ว เคยไปพบแพทย์เพื่อรักษา แต่จำเลยไม่ยอมกินยาตามที่แพทย์สั่ง จากมูลเหตุจูงใจดังที่วินิจฉัยไว้เมื่อรับฟังประกอบกับอาการป่วยทางจิตของจำเลยย่อมเห็นได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองแต่อย่างใด คงมีเพียงเจตนาจะทำร้ายร่างกายเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปคือจำเลยมีความรู้สึกผิดชอบขณะกระทำเพียงใด ในส่วนของผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์เกี่ยวกับการตรวจจิตของจำเลย ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าไม่มีฝ่ายใดนำสืบ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาอยู่ในเรือนจำนั้น จำเลยก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยกันหลายรายเป็นการผิดปกติ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีจึงมีหนังสือขอนุญาตศาลส่งตัวจำเลยไปรับการตรวจวินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต สรุปผลการตรวจว่าจำเลยมีอาการโรคจิตหวาดระแวง ขณะประกอบคดี (ปี 45) ไม่รู้ผิดชอบ ขณะนี้สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การ จำเลยก็ได้บันทึกถึงความผิดปกติในการพูดจาของจำเลยที่นอกเรื่องไปเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกันมีลักษณะควบคุมเรื่องที่พูดไม่ได้ มีอาการไม่ปกติ ดังนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องผลการวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงในคดีที่ศาลรับฟังได้ และเมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยป่วยทางจิตประสาทมาหลายปีก่อนเกิดเหตุและเคยพาจำเลยไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแล้ว แต่จำเลย ไม่ยอมกินยาตามที่แพทย์สั่ง เห็นว่า จากพยานหลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์จากวันเวลาเกิดเหตุ 23.30 นาฬิกา ของวันที่ 21 มกราคม 2545 ประกอบบันทึกคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวน ลงวันที่ 22 มกราคม 2545 ซึ่งใกล้ชิดกับวันเวลาเกิดเหตุยังไม่ทันข้ามวันระบุว่า เมื่อจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้วก็เดินออกจากบ้านพักเพื่อไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ป้อมยามสายตรวจชุมชนประจำหมู่บ้านแต่ไม่พบ จึงเดินย้อนกลับเพื่อไปดูมารดา ขณะเดินผ่านบ้านของผู้เสียหายที่ 2 พบผู้เสียหายที่ 2 นั่งอยู่ภายในบ้านจึงเข้าทำร้าย เมื่อมีคนห้ามปรามจำเลยจึงเดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยย่อมแสดงให้เห็นว่าขณะที่กระทำผิดจำเลยยังพอจะมีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ค้อนของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงเห็นควรสั่งริบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 296, 297 (8), 298 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสอง เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้บุพการี จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้บุพการีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี รวมโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน ของกลางให้ริบ