แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรับประกันภัยทรัพย์พิพาทโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ในวงเงินร้อยละ 60และ 40 ของค่าเสียหายทั้งหมดตามลำดับ เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญาและโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามวินาศภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนที่รับประกันภัยไว้แล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองดังนี้ การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิใช่นายจ้างหรือตัวการของคนขับรถบรรทุกผู้ทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่มีพยานยืนยันว่าคนขับรถบรรทุกดังกล่าวเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยก็ตาม แต่คำพยานจำเลยก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังนั้นเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐาน ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรับประกันภัยเครื่องจักรและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมทั้งฐานราก สิ่งปลูกสร้างท่อระบายน้ำใต้ดิน ท่อลำเลียงต่าง ๆ และท่อดับเพลิงในโรงงานของบริษัทไทยเปอร์อ๊อกไซด์ จำกัดในวงเงินไม่เกิน 360,000,000 บาท ทั้งนี้โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2จะต้องรับผิดชดใช้ในวงเงินร้อยละ 60 และ 40ของค่าเสียหายทั้งหมดตามลำดับ จำเลยรับจ้างขนสินค้าของบริษัทไทยเปอร์อ็อกไซด์ จำกัด จากจังหวัดสระบุรีไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย ด้วยความประมาทของลูกจ้างจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยทำให้รถพ่วงหลุดจากส่วนท้ายของรถบรรทุกลากจูงแล้วพลิกคว่ำทับหัวท่อน้ำดับเพลิงแตกเสียหาย 1 ท่อ ตู้บรรจุอุปกรณ์ดับเพลิงบุบแตกเสียหาย1 ตู้ ท่อยางใช้ดับเพลิงและหัวฉีดดับเพลิง รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 248,064 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 156,289.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 148,827.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และเงินจำนวน 104,098.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 99,128.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 156,289.60 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 104,098.40 บาทดังนั้นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ที่ 1และที่ 2 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถบรรทุกนั้น เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิใช่นายจ้างหรืออัยการของคนขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-7149 กาญจนบุรี จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้โจทก์จะไม่มีพยานยืนยันว่าคนขับรถบรรทุกดังกล่าวเป็นลูกจ้างหรือขับแทนของจำเลยก็ตาม แต่คำพยานจำเลยก็ไม่มีน้ำหนักน่ารับฟังแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2