คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบอันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และเป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน จึงสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตกับฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการลงโทษจากการกระทำที่ต่างกัน โดยแยกการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 24, 44 และ 50 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110 และ 115 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 11, 12, 18, 41, 58, 62 และ 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 ริบบุหรี่ของกลางทั้งหมดเป็นของกรมสรรพสามิต และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายด้วย และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก 037/2552
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 24, 44 และ 50 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12, 18, 41, 58, 62 และ 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 7, 9, 51 และ 57 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กับฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 4,000 บาท ความผิดฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ให้ลงโทษปรับ 1,152 บาท ฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่กฎหมายมีบทลงโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 5,000 บาท ฐานทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 5,000 บาท รวมทุกกระทง ปรับ 15,152 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 7,576 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายค่าสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 กับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 และเป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน จึงสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต กับฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดทั้งสองฐานมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการลงโทษจากการกระทำที่ต่างกัน โดยแยกการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ความผิดฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 50 เป็นเงิน 14,025 บาท และในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 5,000 บาท รวมลงโทษปรับอีก 19,025 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพแล้ว คงปรับ 9,512.50 บาท เมื่อรวมกับโทษที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษไว้แล้ว คงลงโทษปรับ 17,088.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share