คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ขอให้แยกสินบริคณห์ซึ่งถูกศาลยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแยกเป็นส่วนของสามี ดังนี้ ไม่ใช่เป็นการร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 หากแต่เป็นการขอแบ่งแยกสินบริคณห์ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8/2503)
การขอเฉลี่ยทรัพย์ คือ การขอให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยกับเจ้าหนี้ผู้ทำการยึดทรัพย์จากทรัพย์ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยึดไว้ ส่วนการขอแบ่งแยกสินบริคณห์คือ การขอเอาส่วนอันเป็นส่วนของลูกหนี้ผู้ร้องออกมา
การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอเฉลี่ยและได้เฉลี่ยแล้ว แม้เจ้าหนี้นั้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในชั้นขอเฉลี่ยว่า เป็นสินบริคณห์ ก็มิได้ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะขอแบ่งสินบริคณห์มาชำระหนี้หายไป เจ้าหนี้ย่อมที่จะยื่นคำร้องขอแบ่งสินบริคณห์ของลูกหนี้ได้อีก

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานยึดที่ดินสวนยาง 1 แปลงของจำเลยซึ่งศาลได้ขายทอดตลาดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2502ได้เงิน 31,100 บาท ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2502 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าหนี้นายวิชัยสามีจำเลยตามคำพิพากษาของศาลคดีแดงที่96/2502 ยังไม่ได้ชำระหนี้ ขอให้แยกสินสมรสอันเป็นสินบริคณห์ส่วนของนายวิชัยสามี จำนวนเงิน 15,550 บาท ชำระหนี้ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ให้ยกคำร้อง แต่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว มิได้ขอแยกสินบริคณห์ โจทก์จึงยอมให้เฉลี่ยได้เป็นอันยุติแล้วต่อมาผู้ร้องกลับมาร้องอีกว่า ขอแบ่งแยกสินบริคณห์สมรสเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากยอมให้ผู้ร้องร้องได้ใหม่ คดีย่อมไม่มีสิ้นสุดกันเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีนี้หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ไม่ เพราะไม่ใช่การร้องขัดทรัพย์ หากแต่เป็นการขอแบ่งแยกสินบริคณห์ ส่วนการขอเฉลี่ยคือ ขอให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยกับเจ้าหนี้ผู้ทำการยึดทรัพย์จากลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยึดไว้ ส่วนการขอแบ่งแยกสินบริคณห์คือ การขอเอาส่วนแบ่งอันเป็นส่วนของลูกหนี้ผู้ร้องออกมา กรณีจึงต่างกันการที่ผู้ร้องได้เฉลี่ย แม้ผู้ร้องจะไม่ได้กล่าวไว้ในชั้นขอเฉลี่ยว่าเป็นสินบริคณห์ มิทำให้สิทธิขอแบ่งสินบริคณห์มาชำระหนี้หายไปส่วนที่โจทก์ว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เมื่อผู้ร้องมีเหตุที่จะร้องตามกฎหมายและร้องมาภายในขอบเขตของกฎหมาย ศาลก็ย่อมจะรับไว้พิจารณา

พิพากษายืน

Share