แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภายหลังจากวันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธปืนและกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 แล้ว ได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 12 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 สั่งให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดมาแต่ก่อนคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าวใช้บังคับ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2519 โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จึงเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต้องใช้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 12 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 บังคับแก่การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ของกลางริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนเล็กกล เอ็ม ๑๖ ขนาด .๒๒๓ จำนวน ๑ กระบอก ใช้ยิงได้ และมีกระสุนปืนเล็กกลขนาด .๒๒๓ จำนวน ๒๐ นัด ซึ่งเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามตามกฎหมายไว้ในความครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓, ๕, ๘ กฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๕, ๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓, ๕, ๘ กฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๕, ๑๖ จำคุก ๓ ปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ เฉพาะความผิดฐานพกพาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ วางโทษปรับ ๑๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๕๐ บาท ถ้าไม่ชำระให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ส่วนฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะในการสงคราม เนื่องจากได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑๒ สั่ง ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ ระบุว่าไม่ต้อรับโทษ จึงให้ยกฟ้องข้อหานี้ ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๕, ๘ กฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๐๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๕, ๑๖ จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนตามฟ้องไว้ในความครอบครอง แต่ภายหลังจากวันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวแล้ว ได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๑๒ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ สั่งให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครอง นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ภายในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ จึงเป็นผลให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดมาแต่ก่อนคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าวใช้บังคับ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเหล่านั้น มามอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด กรณีจำต้องใช้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๑๒ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ บังคับแก่การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ
พิพากษากลับ บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น