คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9179/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จนั้นจะครบองค์ประกอบเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
การที่จำเลยที่ 3 นำหนักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 3 แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 ในส่วนหลังเกิดขึ้นหลังจากการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้ว เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น จะนำเอาการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบกับมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90, 137, 267 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 45
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 45 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 137, 267 และพระราชบัญญัติคุ้มผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 45 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำเลยที่ 1 ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 3 เดือน จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 3 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบด้วยมาตรา 84 และมาตรา 267 ประกอบด้วยมาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ประกอบด้วยมาตรา 84 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับ จำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 3 ได้แจ้งข้อความเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7 ม-0286 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ชนจำเลยที่ 4 ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 3 นำรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวประกอบกับเอกสารอื่น ๆ ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 และ จ.12 ไปขอรับเงินค่าเสียหายจากโจทก์ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ประกอบด้วยมาตรา 84 หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจตรีฉัตรชัยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นความเท็จ ก็เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้ร้อยตำรวจตรีฉัตรชัยจดบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการนั้น จะครบองค์ประกอบเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 ก็ตาม แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งนั้นมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ การกระทำผิดของจำเลยที่ 3 ในการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในส่วนนี้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้จะได้ความต่อมาว่า จำเลยที่ 3 ได้นำหลักฐานการแจ้งความเท็จพนักงานตำรวจไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7 ม-0286 ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ยืนยันว่าทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 3 แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 ในส่วนหลังนี้ ก็เกิดขึ้นหลังจากการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้ว เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ จึงจะนำเอาการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ใช้ในส่วนนี้ด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 ประกอบด้วยมาตรา 84 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดดังกล่าวแล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบกับมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ประกอบมาตรา 84 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share