แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนมีสิทธิดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นทุนทรัพย์เพียงใด ดังนี้แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงและโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทุนทรัพย์ที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลแขวงก็ตาม ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ 3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานายวรทัศน์ ผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้สืบสันดานผู้มีอำนาจจัดการแทนนางทรรนีย์หรือทรรศนีย์ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390) และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นค่ารักษาพยาบาล 47,159 บาท ค่าเสียหายในอนาคต 80,000 บาท ค่าทนทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 177,159 บาท และผู้เสียหายที่ 3 เป็นค่ารักษาพยาบาล 724,086 บาท ค่าเตียงผู้ป่วยและรถเข็น 25,500 บาท ค่าจ้างผู้ดูแล 52,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายวัน 15,402 บาท ค่าเสียหายในอนาคต 1,950,575 บาท ค่าทนทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจ 300,000 บาท ค่าพาหนะ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,072,562 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,249,721 บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยชำระให้แล้ว 37,251 บาท จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,212,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมขอนั้นสูงเกินไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 เป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งใน 1 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมด้านการจราจร 24 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,722,163.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีในส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 495,004.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกาเฉพาะคดีในส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้บัญญัติเขตอำนาจของศาลแขวงกับศาลจังหวัดไว้อย่างชัดเจนว่า ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษานายเดียวในคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคดีแพ่งจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท คดีนี้โจทก์ร่วมเรียกร้องในคดีส่วนแพ่งจำนวน 3,212,470 บาท จึงเกินอำนาจศาลชั้นต้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ผู้เสียหายจะร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่งได้จำนวนทุนทรัพย์ต้องไม่เกินขอบเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษานั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนมีสิทธิดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นทุนทรัพย์เพียงใด ดังนี้แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงและโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทุนทรัพย์ที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลแขวงก็ตาม ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ 3 ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าสินไหมทดแทนสำหรับผู้เสียหายที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดมานั้นสูงเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งอันเกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของจำเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 3 ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 มีสิทธิเบิกจากทางราชการโดยโจทก์ร่วมไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โรงพยาบาลก็เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ส่วนที่ผู้เสียหายได้รับชดเชยจากบริษัทประกันภัยทางรถยนต์นั้น ก็เป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ 3 ที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ กรณีจึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย ทั้งไม่อาจบรรเทาความรับผิดของจำเลยลงได้แต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เสียหายที่ 3 จากจำเลยผู้กระทำความผิดได้
แม้โจทก์ร่วมจะไม่นำสืบชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายที่ 3 จะมีสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เช่นนี้ตลอดไป แต่เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจนสมองและก้านสมองซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก มีโลหิตออกและคั่งภายในสมอง ซึ่งอาการบาดเจ็บดังกล่าวย่อมไม่อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังไม่อาจคาดหมายต่อไปได้ว่า ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุมากแล้วจะสามารถกลับฟื้นคืนตัวเป็นปกติได้หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตสำหรับผู้เสียหายที่ 3 ตามศาลชั้นต้นจึงเหมาะสมแล้ว
การที่บริษัทคิวบีอีประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 3 เป็นเรื่องของความรับผิดเฉพาะตัวที่ได้ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์ที่จำเลยขับขณะเกิดเหตุไว้ มูลหนี้ความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงหาเป็นมูลหนี้ที่บริษัทคิวบีอีประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะลูกหนี้ร่วมไม่ จำเลยจึงมิอาจอ้างข้อสัญญาข้อ 3 ของสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ตนพ้นความรับผิดต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 3 ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นหักค่าเสียหายที่จำเลยชำระให้โจทก์ร่วมแล้วบางส่วนไม่ถูกต้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ระหว่างที่มีการตกลงกันในคดีอาญา จำเลยนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วมบางส่วนเป็นเงิน 21,500 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความภายหลังยืนยันว่าจำเลยชำระให้อีก 25,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกก่อนจึงไม่ถูกต้อง ดังนี้ย่อมคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดเพียง 470,004.61 บาท นอกจากนี้คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมการที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 12,375 บาท จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 470,004.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 12,375 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ