แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าบ้านผู้เป็นมารดายอมให้จำเลยซึ่งเป็นนายสิบตำรวจผู้บุตร ขนฝิ่นเข้ามาไว้ในบ้านนั้นมารดาอาจเข้าใจว่าจำเลยจับฝิ่นได้จากคนร้ายก็ได้ทั้งเพิ่งนำมาเก็บไว้ไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดถูกจับขึ้นดังนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าเจ้าบ้านผู้เป็นมารดาสมคบกับจำเลยอื่นมีฝิ่นไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย
พลตำรวจไปกับนายสิบตำรวจซึ่งเป็นหัวหน้าแล้วไปกระทำผิดขึ้นศาลลงโทษเบากว่านายสิบตำรวจผู้เป็นหัวหน้าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันมีฝิ่นรวมหนัก 490 กก. 700 ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษและริบของกลางจำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1, 2, 3 ไปจับฝิ่นของกลางมาฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 4 ส่วนเจ้าของฝิ่นหลบหนีไปจับไม่ได้ จำเลยจึงไม่ผิด พิพากษายกฟ้อง ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้ง 4 สมคบกันมีฝิ่นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษากลับว่าจำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ. 2472 มาตรา 8, 53, 64 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 จำคุกคนละ 5 ปี ปรับคนละ 19,628,000 บาท จำเลยที่ 1, 2, 3 เป็นข้าราชการวางโทษหรือคูณตามพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2494 มาตรา 11 เป็นจำคุกคนละ 10 ปี ปรับคนละ 39,256,000 บาท ไม่ใช้ค่าปรับจัดการตาม มาตรา 18 กฎหมายอาญาหากจำแทนจำคุกคนละ 1 ปี ของกลางริบ
จำเลยทั้ง 4 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1, 2, 3 ชอบด้วยทางพิจารณาแล้ว แต่พลตำรวจสมัคร จอย กับพลตำรวจสมัครประพจน์ จำเลยที่ 2, 3 นั้นเป็นตำรวจผู้น้อยออกไปสืบเสาะจับกุมผู้ร้ายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาแต่ไปกระทำผิดร่วมกัน ควรกำหนดโทษจำคุกให้เบากว่าจำเลยที่ 1
คดีเฉพาะนางนวมจำเลยที่ 4 ได้ความว่าเป็นเจ้าของบ้านที่เก็บฝิ่นและเป็นมารดาจำเลยที่ 1 การที่นางนวมยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรนำฝิ่นมาไว้ในบ้านนั้น นางนวมอาจเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 จับฝิ่นได้จากคนร้ายก็ได้ และเพิ่งนำมาเก็บไว้ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกจับ ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่า นางนวมสมคบกับจำเลยอื่นกระทำผิดหรือมีฝิ่นไว้ในครอบครองอันเป็นการผิดกฎหมาย
จึงพิพากษาแก้เฉพาะโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 3 เหลือคนละ 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง นอกจากนี้ยืน