คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9140/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 คำสั่งศาลชั้นต้นได้เขียน วันที่ไว้ชัดเจนแล้ว การที่ทนายจำเลยไม่มาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย และการที่ทนายจำเลยเจ็บป่วยเป็นลมหน้ามืดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นอุทธรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยเพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2544 ทนายจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ย่อมมีเวลาพอที่จะทำอุทธรณ์ยื่นต่อศาลได้ทันตามกำหนดเวลา แม้ทนายจำเลยป่วยจำเลยก็สามารถตั้งทนายความคนใหม่เรียงอุทธรณ์ให้ได้ กรณีจึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตาม คำปฏิเสธของศาลชั้นต้นแล้ว คำสั่งนี้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔” ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๔ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “อนุญาตถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔” จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าล่วงเลยระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงไม่รับอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และขอให้รับอุทธรณ์โดยอ้างเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยและไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ต่อมาวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ จำเลยยื่นอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกโดยอ้างเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปอีก ๑๕ วัน
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ มีคำสั่งว่า เหตุต่าง ๆ ที่ทนายจำเลยอ้างมานั้น หาใช่พฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลย ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นได้เขียนวันที่ไว้ชัดเจนแล้ว การที่ทนายจำเลยไม่มาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย และการที่ทนายจำเลยเจ็บป่วยเป็นลมหน้ามืดต้องเข้ารักษาตัวใน โรงพยาบาลในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นอุทธรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยเพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๔ ทนายจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ย่อมมีเวลาพอที่จะทำอุทธรณ์ยื่นต่อศาลได้ทันตามกำหนดเวลา แม้ทนายจำเลยป่วยจำเลยก็สามารถแต่งตั้งทนายความคนใหม่เรียงอุทธรณ์ให้ได้ กรณีจึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการต่อมาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย และจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวมายังศาลอุทธรณ์ภาค ๘ และศาลอุทธรณ์ภาค ๘ มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นแล้วคำสั่งนี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคท้าย
พิพากษายืน

Share