คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อน โจทก์กับ ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 นั้น ถือได้ว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่น ๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับ ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับ ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ น. ตามคำสั่งศาล จดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดกซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 4909 ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ระหว่างจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนางกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว กลับมาเป็นกองมรดกของนางนางและกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดก ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กลับมาเป็นกองมรดกของนางนาง ให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับห้ามจำเลยที่ 3 พร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกของนางนาง เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับคำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 87/2553 หมายเลขแดงที่ 1343/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้นำเงินจำนวน 90,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ตามที่ตกลงกันไว้ สัญญาประนีประนอมยอมความในข้อที่ 2 ย่อมไม่อาจนำมาผูกพันต่อโจทก์และนางสาวทิพจุฑาแต่อย่างใด คดียังเปิดช่องให้โจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินคดีฟ้องร้องเอาคืนที่ดินพิพาทในคดีนี้ต่อไป นั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ก็มิได้อ้างไว้เช่นกัน ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณามาก่อน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่โจทก์ฎีกาว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 87/2553 ของศาลชั้นต้น ขณะนั้นโจทก์เป็นเพียงทายาทคนหนึ่งของนางนาง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แต่คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทจึงหาใช่คู่ความเดียวกันไม่ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน นั้น เห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 87/2553 ของศาลชั้นต้น โจทก์กับนางสาวทิพจุฑา ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถือเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่น ๆ ด้วย หากศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับนางสาวทิพจุฑาทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับนางสาวทิพจุฑา และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะโจทก์ในส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้อีกจึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกันคือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งอยู่ระหว่างห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ จำเลยที่ 2 ทราบข้อกำหนดห้ามโอนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิซื้อที่ดินอันเป็นกองมรดกของบุคคลภายนอก สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2537 บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางนางตามคำสั่งศาล จดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ถือเป็นการโอนทางมรดกซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 ประกาศขายที่ดินพิพาทเนื่องจากติดจำนองอยู่กับนางละม่อมมากว่า 10 ปี แล้ว จำเลยที่ 2 จึงนำเงินไปไถ่ถอนจำนวน 150,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ส่วนจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 460,000 บาท ขณะนั้นที่ดินพิพาทติดจำนองกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรโดยจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งเป็นการทำสัญญาเมื่อกว่า 10 ปี ซึ่งพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 หาได้ตกเป็นโมฆะไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share