คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9117/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จะเป็นคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนและคำสั่งฉบับพิพาทจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม แต่การฟังพยานหลักฐานของศาลย่อมต้องเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พยานหลักฐานของจำเลยคือบันทึกถ้อยคำที่บุคคลให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ทางราชการแต่งตั้งขึ้นย่อมรับฟังได้ แต่น้ำหนักของพยานหลักฐานดังกล่าวมีน้อยกว่าการที่ฝ่ายจำเลยจะนำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความในศาล เพราะเป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกคำให้การนั้น บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีที่ 1139/2532 เรื่องการแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2532เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ที่ดินที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีกันเขตเป็นหนองน้ำสาธารณะเป็นที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การเป็นใจความว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทั้งสี่เป็นเพียงผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้น ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสี่ที่อ้างว่ามีสิทธิครอบครองนั้นได้รวมเอาหนองน้ำสาธารณะหนองแฟบอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ด้วย จำเลยจึงมีคำสั่งให้แก้ไขโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตามคำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีที่ 1139/2532 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535โจทก์ทั้งสี่มิได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีที่ 1139/2532 เรื่องการแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี (นายปรีดา มุตตาหารัช)ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทมีหนังสือสำคัญคือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมายจ.15 จ.1 จ.22 และ จ.27 ก่อนหน้าที่จะมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวมีผู้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาตลอด โดยนายสร้าง คงสมัย ผู้ครอบครองคนหนึ่งได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาการครอบครองตกมาถึงนายสมชาย คงสมัย โจทก์ทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสมชายแล้วจึงได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หลังจากนั้นมีประชาชนร้องเรียนว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทออกทับที่หนองแฟบซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะที่พลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยจึงดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีที่ 1139/2532 ให้แก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยอ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวออกทับหนองน้ำสาธารณะหนองแฟบชอบหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทางราชการออกให้นั้นถูกต้อง มิได้ออกทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีที่ 1139/2532 จึงไม่ชอบ จำเลยฎีกาคัดค้านการฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์สรุปใจความสำคัญได้ว่า ควรจะฟังข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคำของนายย้อย ประยูรไทย นายสง่า สมประสงค์และนางสละ บริสุทธิ์ ตามเอกสารหมาย ล.17 ถึง ล. 19 ที่เคยให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพราะคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน การที่จังหวัดกาญจนบุรีออกคำสั่งฉบับดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมการที่ศาลจะฟังว่าหนองแฟบไม่ได้เป็นหนองน้ำสาธารณะก็จะมีกรณีเดียวคือประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ในหนองน้ำดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่ก็ยืนยันว่าสภาพที่ดินพิพาทเป็นที่ลุ่มหน้าฝนน้ำขัง ชาวบ้านจะเข้าไปหาปลาทำมาหากินโดยโจทก์ไม่เคยห้ามปรามเป็นการยินยอมให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน และการอุทิศหรือยินยอมเช่นนี้ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์โดยไม่ต้องมีการขึ้นทะเบียนจังหวัดกาญจนบุรีมีอำนาจออกคำสั่งแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้ถูกต้องได้ เห็นว่า แม้คดีนี้จะเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนและคำสั่งฉบับพิพาทจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมก็ตาม แต่การฟังพยานหลักฐานของศาลยุติธรรมย่อมต้องเป็นไปตามนัยของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บันทึกถ้อยคำที่บุคคลให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ทางราชการแต่งตั้งขึ้นดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.17 ถึง ล.19 นั้น ย่อมรับฟังได้ แต่น้ำหนักของพยานหลักฐานดังกล่าวมีน้อยกว่าการที่ฝ่ายจำเลยจะนำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความในศาลเพราะเป็นเพียงพยานบอกเล่า ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกคำให้การนั้น บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยฝ่ายโจทก์มีพยานบุคคลได้แก่นายหาญ กุยยกานนท์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และนายฮับ เหลืองอมรศักดิ์ เจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทซึ่งเคยลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินครั้งที่โจทก์ทั้งสี่ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงมาเบิกความ โดยนายหาญเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ลุ่มเวลาฝนตกน้ำจะขัง แต่จะแห้งในหน้าแล้งส่วนของที่ดินพิพาทที่ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เรียกว่าหนองแฟบซึ่งในที่ดินของพยานเองก็มีหนองอยู่ 2 แห่งคือหนองสองตอนกับหนองแซ่ แต่ทางราชการก็มิได้ขึ้นทะเบียนหนองน้ำทั้งสองแห่งเป็นที่สาธารณะ ส่วนนายฮับเบิกความว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทพยานในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ไปลงชื่อรับรองแนวเขตนอกจากนั้นมีนายสง่า สมประสงค์ กำนันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ไประวังแนวเขตด้วย ไม่มีชาวบ้านแถวนั้นมาคัดค้านว่าที่ดินพิพาทรุกล้ำที่สาธารณะ บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทมีหนองน้ำอยู่ 4 แห่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะคือ หนองกระแช่ หนองเต่า หนองสองตอนและหนองยายใหม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางราชการเคยเรียกพยานมาสอบสวนปรากฏตามบันทึกถ้อยคำ เอกสารหมาย จ.41ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความดังกล่าวเป็นการสนับสนุนข้อนำสืบของฝ่ายโจทก์ และเห็นว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานฝ่ายจำเลยจึงถูกต้องและชอบแล้ว การที่จะฟังว่าหนองแฟบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันลำพังแต่ข้อเท็จจริงเพียงว่าหน้าฝนราษฎรได้เคยเข้าไปหาปลาในหนองแฟบซึ่งอยู่ในเขตที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสี่ที่ราชการออกให้ โดยโจทก์มิได้ห้ามปรามหรือหวงห้ามหาเพียงพอไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว เห็นว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบถึงเรื่องดังกล่าวไว้จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยให้ นอกจากนี้นายกฤษณ์ ธีรชัยชยุติ อดีตนายอำเภอเมืองกาญจนบุรีพยานจำเลยกลับเบิกความเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ว่า ในการรังวัดขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต การรังวัดต้องมีการทำแผนที่และตามเอกสารก็ระบุไว้ว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นที่หวงห้ามหรือที่สาธารณะ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสี่มิได้ออกทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำสั่งจังหวัดกาญจนบุรีของจำเลยที่ให้แก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share