แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แม้คำฟ้องขอไถ่ถอนจำนองจะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของโจทก์ และโจทก์สละสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยแล้วเป็นการโต้เถียงสิทธิครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นการรวมประเด็นที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันหรือไม่ตามคำให้การของจำเลยด้วย คดีไม่มีทุนทรัพย์จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 277 โจทก์ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยเพื่อประกันการกู้เงินจำนวน 54,000 บาท ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวการบังคับจำนองเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วได้ติดต่อให้จำเลยมารับเงินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้นำต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยวางที่สำนักงานวางทรัพย์จำนวนเงิน 94,500 บาทเพื่อให้จำเลยรับเงินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่มาตามนัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยมารับเงินที่สำนักงานวางทรัพย์และหรือจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้นำที่ดินพิพาทมาขายให้แก่จำเลยในราคา 54,000 บาท โจทก์ได้รับเงินไปแล้วและสละสิทธิครอบครองโดยมอบการครอบครองและส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าของที่ดินให้แก่จำเลยโดยสัญญาว่า จะไปจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นระยะเวลาการห้ามโอนและเพื่อเป็นหลักประกันโจทก์จำเลยจึงให้เจ้าหน้าที่อำเภอจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับจำเลยโดยตีราคาจำนองเท่ากับราคาซื้อขายที่ดินทั้งนี้ไม่มีการกู้ยืมเงินตามฟ้อง โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองหรือเปลี่ยนเจตนาการยึดถือ และสัญญาจำนองที่ดินประกันเงินกู้ยืมนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินต้นจำนวน 54,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่จำเลย และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 277 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะแม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดิน ในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลเกินกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างเหตุว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอไถ่ถอนสัญญาจำนอง จึงไม่เข้าตามข้อกำหนดในตาราง 1 ข้อ (ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแม้จำเลยจะให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ศาลก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นแห่งคดีไว้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจกำหนดเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง200 บาท เห็นว่า แม้คำฟ้องขอไถ่ถอนจำนองจะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ และโจทก์สละสิทธิครอบครองได้แก่จำเลยแล้ว เป็นการโต้เถียงสิทธิครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นการรวมประเด็นที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันหรือไม่ ตามคำให้การของจำเลยด้วย คดีไม่มีทุนทรัพย์จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ถูกต้องจึงชอบกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน