คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 13 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ข้อ11 บัญญัติว่าเมื่อผู้ใดฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลมีอำนาจถอนใบอนุญาตขับรถได้และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 4(14) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 3 ให้วิเคราะห์ศัพท์คำว่าใบอนุญาตขับรถให้หมายความว่าใบอนุญาตให้ผู้ขับทำการขับขี่หรือลากเข็นรถหรือรถรางตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รถจ้างรถลาก ล้อเลื่อน การจดทะเบียนคนขับรถรางและการขนส่ง ดังนี้ ใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ ซึ่งนายทะเบียนการขนส่งออกให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่ง จึงเป็นใบอนุญาตขับรถตามความหมายในพระราชบัญญัติจราจรทางบก เมื่อจำเลยกระทำผิดและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย (ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 66 ที่แก้ไขแล้ว) ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถที่กล่าวนั้นเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ไม่หยุดรถหรือชะลอความเร็ว เพื่อรถให้ทางข้างหน้าปลอดภัยเสียก่อนเมื่อจะสวนทางกับรถอีกคันหนึ่งที่จอดอยู่ริมถนน เป็นเหตุให้ตัวถังรถของจำเลยเฉี่ยวเบียดกับรถคันที่จอดอยู่เสียหายเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๙ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๑ และขอให้สั่งถอนใบอนุญาตประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถ ใบอนุญาตเลขที่ ส.ข. ๔/๒๕๑๓ ซึ่งนายทะเบียนการขนส่งทางบก จังหวัดสงขลาออกให้แก่จำเลยเสียด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษปรับ ๑,๐๐๐ บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งถอนใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง ซึ่งนายทะเบียนการขนส่งทางบกจังหวัดสงขลาออกให้แก่จำเลยนั้น ศาลไม่มีอำนาจจะสั่งเพิกถอนได้ให้ยกคำขอของโจทก์เสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกที่โจทก์ขอให้ลงโทษมาท้ายฟ้อง ปัญหาว่าศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๑๓ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๙ ข้อ ๑๑ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยมานั้น บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้ใดฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินั้น นอกจากระวางโทษปรับแล้ว ให้ศาลมีอำนาจถอนใบอนุญาตขับรถได้ และตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๔(๑๔) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๓ ได้วิเคราะห์ศัพท์ใบอนุญาตขับรถไว้ว่า หมายความว่าใบอนุญาตให้ผู้ขับทำการขับขี่หรือลากเข็นรถหรือรถราง ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รถจ้าง รถลาก ล้อเลื่อน การจดทะเบียนคนขับรถรางและการขนส่ง ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่า ใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งสำหรับหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ ใบอนุญาตที่ ส.ข. ๔/๒๕๑๓ ซึ่งนายทะเบียนการขนส่งจังหวัดสงขลาออกให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งรายนี้เป็นใบอนุญาตขับรถ ตามความหมายในพระราชบัญญัติจราจรทางบกศาลมีอำนาจเพิกถอนตามบทกฎหมายที่พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นได้แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยขับรถคันเกิดเหตุโดยประมาท ทำให้เฉี่ยวหรือเบียดรถของผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่มากนัก ยังไม่สมควรที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งของจำเลยตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share