แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าชำระหนี้อะไร ก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ให้มีอำนาจในการตกลงข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายสินค้า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็ค จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายสินค้าและจำเลยไม่ยอมตกลงชำระหนี้ตามเช็คแก่โจทก์ เพราะค้างชำระหนี้โจทก์ไม่ถึงจำนวนตามเช็ค แสดงว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวบอกแต่เพียงว่า เมื่ออนุญาโตตุลาการได้ทำการตกลงข้อขัดแย้งแล้วให้ถือว่าข้อตกลงนั้นสิ้นสุดและยอมรับกันเท่านั้น ไม่มีข้อความใดบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทในอนุญาโตตุลาการทุกกรณีไป จึงไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทรงเช็คจำนวนเงิน 435,463 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายและส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์ทั้งสองได้นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ 442,811 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 435,463 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทคงเหลือเพียง 224,406 บาท จำเลยที่ 1 ได้เรียกให้โจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอรับเช็คพิพาทคืน แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 จึงขอให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต ฟ้องต้องห้ามตามกฎหมาย เนื่องจากตามสัญญาตั้งตัวแทนกำหนดว่าในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งให้นายสุรศักดิ์ นันทวิริยกุล เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตกลงข้อขัดแย้งและให้ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นที่สิ้นสุด แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้โดยยังไม่ได้มีการไกล่เกลี่ยเป็นการผิดข้อตกลง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าอะไร เพียงแต่บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้อะไร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 442,811 บาทแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 435,463 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 7 สิงหาคม 2535) จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าอะไร หรือด้วยเหตุผลใด เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ที่ 1เพื่อชำระหนี้ ถึงแม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าชำระหนี้อะไรก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์ที่ 1 สามารถจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่ 1 จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งการเป็นผู้แทนจัดจำหน่ายข้อ 12 เสียก่อน โจทก์ที่ 1 จะฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลหาได้ไม่ เห็นว่าข้อความตามสัญญาแต่งตั้งการเป็นผู้แทนจำหน่ายเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเจ้าของผลิตภัณฑ์จะแต่งตั้งให้นายเสรี ปราการเสรี (โจทก์ที่ 1) นายสุรชัย ชัยวัฒน์(โจทก์ที่ 2) และผู้แทนจัดจำหน่ายจะแต่งตั้งให้นายสุรศักดิ์ นันทวิริยกุล เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตกลงข้อขัดแย้งและให้ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นที่สิ้นสุดยอมรับกันทั้งสองฝ่าย” นั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการหลายคนให้เป็นผู้มีอำนาจในการตกลงข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายสินค้าตามเอกสารหมาย ล.1 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมตกลงชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ เพราะยังค้างชำระหนี้โจทก์ไม่ถึงจำนวนตามเช็คพิพาทแสดงว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเท่านั้น ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวบอกแต่เพียงว่าเมื่ออนุญาโตตุลาการได้ทำการตกลงข้อขัดแย้งแล้วให้ถือว่าข้อตกลงนั้นสิ้นสุดและยอมรับกันเท่านั้น ไม่มีข้อความใดบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการทุกกรณีไปจึงไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องศาล ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สามว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าอยู่เพียงจำนวน 224,406 บาทหรือค้างชำระค่าสินค้าตามจำนวนที่ระบุในเช็คพิพาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 261,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่15 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์