คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9041/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดในข้อหาขายสารระเหยแก่ผู้ที่มีอายุไม่เกินสิบเจ็ดปีและบุคคลที่ตนรู้หรือควรจะรู้ว่าติดสารระเหย นับว่าเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งผู้ติดสารระเหยและเป็นภัยแก่เด็กและเยาวชนของชาติก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหยพ.ศ. 2533 มาตรา 3, 4, 15, 16, 23, 24 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33และขอให้ริบสารโทลูอีน (กาวน้ำ) จำนวน 1 ขวด และ 1 กระป๋อง เหรียญรัฐบาลไทยชนิด 10 บาท 1 เหรียญ ของกลาง กับคืนธนบัตรรัฐบาลไทยชนิด20 บาท 2 ฉบับ แก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มาตรา 15, 16 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยฐานขายสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าติดสารระเหย จำคุก 4 เดือนให้ริบสารโทลูอีน (กาวน้ำ) จำนวน 1 ขวด และ 1 กระป๋อง เหรียญรัฐบาลไทยชนิด 10 บาท 1 เหรียญ ของกลาง กับคืนธนบัตรรัฐบาลไทยชนิด 20 บาท2 ฉบับ แก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มาตรา 15, 16, 23, 24 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูกโดยให้ลงโทษตามมาตรา 16 และ 24 ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจตรีบรรเจิด ราชกิจและร้อยตำรวจเอกณัฐณภัทร เหมือนเขียว ประจักษ์พยานเบิกความว่าเมื่อพยานทั้งสองทราบจากเด็กชายศักดา ศรีชัยชาญวงศ์ ว่าเคยซื้อกาวน้ำจากจำเลย จึงได้วางแผนจับกุม โดยนำธนบัตรฉบับละ 20 บาท จำนวน2 ฉบับ ไปลงบันทึกประจำวันระบุหมายเลขธนบัตรและถ่ายสำเนาเอกสารไว้แล้วมอบธนบัตรดังกล่าวให้เด็กชายศักดาเพื่อทำการล่อซื้อกาวน้ำจากจำเลยพยานทั้งสองกับพวกซุ่มแอบดูอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกับหน้าบ้านจำเลยเห็นเด็กชายศักดาเดินไปที่บ้านของจำเลยและตะโกนเรียกจำเลย จำเลยเดินมาที่ประตูบ้านพูดคุยกับเด็กชายศักดา แล้วจำเลยได้เดินเข้าไปในบ้านสักครู่จำเลยเดินกลับออกมาและนำกาวน้ำจำนวน 1 กระป๋อง มอบให้เด็กชายศักดาพร้อมกับรับเงินจากเด็กชายศักดา แล้วจำเลยทอนเงินจำนวน 10 บาท ให้เด็กชายศักดา เด็กชายศักดาได้นำกาวน้ำพร้อมทั้งเงินทอนจำนวน 10 บาท มามอบให้พยานทั้งสองกับพวก จากนั้นพยานทั้งสองกับพวกเข้าทำการตรวจค้นบ้านจำเลยผลการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 20 บาท จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีหลายเลขตรงกับหมายเลขที่ลงบันทึกประจำวันและที่ถ่ายสำเนาเอกสารไว้ ตอนแรกจำเลยให้การรับสารภาพแต่เมื่อทำบันทึกที่สถานีตำรวจ จำเลยให้การปฏิเสธ พยานทั้งสองกับพวกจึงนำจำเลยพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความสอดคล้องต้องกันในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดีจะมีแตกต่างกันบ้างก็เฉพาะพลความเท่านั้น ประกอบกับพยานโจทก์ทั้งสองไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมาแกล้งเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีเด็กชายศักดาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งพยานโจทก์แต่ละปากได้เบิกความลำดับเหตุการณ์เชื่อมโยงพฤติการณ์ของจำเลยไม่มีข้อพิรุธ ส่วนจำเลยนั้นนอกจากคำเบิกความของจำเลยแล้วยังมีนายประดิษฐ์ สาระวิถี เบิกความสนับสนุน ซึ่งจำเลยเบิกความว่าวันเกิดเหตุจำเลยไม่เคยเห็นเด็กที่โจทก์อ้างว่ามาซื้อกาวน้ำจากจำเลยแต่นายประดิษฐ์กลับเบิกความว่าขณะที่พยานซื้อกาวน้ำจากจำเลยมีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งมาขอให้ช่วยซื้อกาวน้ำจากจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ยอมขายให้ พยานจึงเอากาวน้ำที่ซื้อจากจำเลย 1 กระป๋อง ราคา 20 บาท ขายให้เด็กวัยรุ่นดังกล่าวไป แสดงให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นดังกล่าวได้เคยซื้อกาวน้ำจากจำเลยแล้วจำเลยไม่ขายให้ จึงแตกต่างกันพยานหลักฐานของโจทก์หนักแน่นมีเหตุผล พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เมื่อได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทหญิงเอื้ออารีย์ พันธ์ศิริ ผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางว่าตรวจพบสารโทลูอีนซึ่งจัดเป็นสารระเหยตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 ในของเหลวของกลางตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.6 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยขายสารระเหยให้แก่เด็กชายศักดาโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเด็กชายศักดาอายุไม่เกิน 17 ปีหรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย จ.14 ที่โจทก์อ้างจะระบุว่าเด็กชายเอกศรีชัยชาญวงศ์ เกิดวันที่ 8 มกราคม 2529 โดยไม่มีหลักฐานแสดงว่าเด็กชายเอกกับเด็กชายศักดาเป็นคนเดียวกันก็ตาม แต่ตอนที่เด็กชายศักดามาเบิกความต่อศาลนั้น ก็เบิกความยืนยันว่าอายุ 12 ปี โดยเกิดปี 2529 เพียงแต่จำวันเดือนเกิดไม่ได้เท่านั้น จำเลยก็ไม่ได้ซักถามเรื่องอายุของเด็กชายศักดาให้ปรากฏเป็นอย่างอื่น อีกทั้งไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างคำกล่าวอ้างของพยานโจทก์แต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อศาลได้พิจารณาภาพถ่ายของเด็กชายศักดาตามภาพถ่ายหมาย จ.2 แล้ว เชื่อว่าเด็กชายศักดามีอายุไม่เกิน 17 ปี จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามโจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาขายสารระเหยแก่ผู้ที่มีอายุไม่เกินสิบเจ็ดปีและบุคคลที่ตนรู้หรือควรจะรู้ว่าติดสารระเหยนับว่าเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งผู้ติดสารระเหยและเป็นภัยแก่เด็กและเยาวชนของชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share