แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนการให้บริการของสายการเดินเรือของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าทางทะเลระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง อันเป็นการออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1การดำเนินการของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการรับขนสินค้ามีเพียงการจัดเตรียมตู้คอนเทนเนอร์ให้โจทก์นำไปบรรจุสินค้าและรับมอบตู้คอนเทนเนอร์นำไปบรรทุกลงเรือของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลช่วงระยะทางช่วงหนึ่งช่วงใด จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเลเท่านั้นหาใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ในการตกลงซื้อขายสินค้า คู่สัญญาย่อมมีสิทธิตกลงเงื่อนไขการส่งมอบและเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้ แม้ตามใบกำกับสินค้าจะระบุราคาสินค้ารวมค่าระวางหรือซีแอนด์เอฟซึ่งถือว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการนำสินค้าพ้นกราบเรือที่ท่าเรือบรรทุกสินค้าขึ้นก็ตามแต่เมื่อการซื้อขายดังกล่าวมีการตกลงกันตามธรรมเนียมการซื้อขายผลไม้สดโดยโจทก์ผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ผู้ซื้อได้ตรวจคุณภาพจนพอใจแล้ว ผู้ซื้อจึงตกลงรับซื้อและชำระราคาให้ ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งจนผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อและชำระราคาโจทก์ในฐานะผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเล ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้น
โจทก์เพียงส่งมอบใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1เท่านั้นยังไม่ได้โอนใบตราส่งไปยังผู้ซื้อ แม้ผู้ซื้อจะได้เรียกร้องให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตามสิทธิทั้งหลายของโจทก์ในฐานะผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนของทางทะเลก็ยังหาได้โอนไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ได้ตามพระราชบัญญัติการรับของทางทะเลฯ มาตรา 39
ใบตราส่งสินค้าระบุว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นทุเรียนสดจำนวน 1,200 หีบห่อ อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ ต้องถือว่าสินค้าที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,200 หน่วยตามพระราชบัญญัติการรับของทางทะเลฯมาตรา 59(1) มิใช่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์เป็น 1 หน่วยการขนส่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าทุเรียนสดของโจทก์จากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปส่งให้แก่บริษัทกลิทเทอร์ เจมเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ซื้อที่เมืองเกาซุงไต้หวัน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ซื้อสินค้านี้จากโจทก์ ซึ่งมีข้อตกลงว่าผู้ซื้อจะตรวจสอบสินค้าก่อน ถ้าสินค้ามีคุณภาพดีจึงจะรับมอบและชำระราคาซึ่งเป็นราคาขายส่งมอบที่เมืองเกาซุงคิดเป็นเงินรวม 28,800ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 ได้นำตู้คอนเทนเนอร์แบบตู้ห้องเย็นขนาด40 ฟุต หมายเลขโอโอแอลยู 5901945 มามอบแก่โจทก์ วันที่ 30เมษายน 2541 โจทก์ได้บรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 พร้อมเอกสารกำกับสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีและวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 จำเลยทั้งสองได้นำตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าดังกล่าวบรรทุกบนเรือ เอ็นวายเค ซันไรส์ เที่ยวเรือที่ 069 อี ที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วจำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งเลขที่โอโอแอลยู 65106886ให้แก่โจทก์ ก่อนที่เรือจะเดินทางไปถึงเมืองท่าเกาซุงซึ่งเป็นเมืองท่าปลายทาง โจทก์ได้ส่งมอบต้นฉบับใบตราส่งให้จำเลยที่ 2 ที่กรุงเทพมหานครเพื่อให้จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งไปยังตัวแทนที่ไต้หวันให้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้โดยไม่ต้องนำต้นฉบับใบตราส่งไปแสดงที่เมืองท่าปลายทางเพื่อให้ผู้รับตราส่งไปรับสินค้าออกมาตรวจสอบก่อนได้ วันที่ 6 พฤษภาคม2541 เรือเอ็นวายเค ซันไรส์ เดินทางถึงเมืองท่าเกาซุง บริษัทกลิทเทอร์ เจมเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้สั่งซื้อ ได้ตรวจสอบสินค้าพบว่าสินค้าตามฟ้องทั้งหมดได้รับความเสียหาย เนื่องจากความผิดพลาดในการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ จึงไม่รับสินค้า และสินค้าดังกล่าวถูกนำไปเผาทำลายภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ศุลกากร โจทก์จึงมีหนังสือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายกันจำนวน28,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินบาทในขณะยื่นฟ้องเป็นเงินจำนวน1,083,744 บาท จำเลยทั้งสองปฏิเสธ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สินค้าเสียหายถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน1,163,895 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน1,083,744 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในสินค้าตามฟ้องตกแก่บริษัทกลิทเทอร์ เจม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับมอบสินค้า โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1มีหน้าที่ในการทำพิธีการเรือของเรือเอ็นวายเค ซันไรส์ การส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง การขนส่งสินค้ารายนี้เป็นการขนส่งแบบ CY/CY ซึ่งโจทก์ผู้ส่งมีหน้าที่ตรวจสภาพของตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งรวมถึงการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่จะส่งและมีหน้าที่บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าตามฟ้องในสภาพเรียบร้อยและเครื่องทำความเย็นสามารถใช้การได้ดีให้แก่การท่าเรือเกาซุงซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง ความเสียหายของสินค้าจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้ขนส่งไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การขนส่งสินค้าทุเรียนสด ผู้ส่งจะต้องทำการลดอุณหภูมิความร้อนในผลทุเรียนที่เรียกว่า “PRE-COOL” ให้หมดไปก่อนที่จะทำการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ แต่โจทก์ได้บรรจุสินค้าดังกล่าวเข้าตู้คอนเทนเนอร์โดยไม่ทำการลดอุณหภูมิก่อน สินค้าทุเรียนจึงคายความร้อนและทำให้เกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดก็ไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากสินค้ามีเพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์หรือไม่เกิน 360,000 บาท เนื่องจากสินค้าตามฟ้องมีน้ำหนัก 12,000 กิโลกรัม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 360,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 360,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 เมษายน 2542)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ มีสำนักงานอยู่ที่เมืองฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางทะเลโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นสำนักงานสาขาในประเทศไทย ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2541 บริษัทกลิทเทอร์ เจมเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด อยู่ที่ไต้หวันได้สั่งซื้อสินค้าทุเรียนสดจำนวน 12,000 กิโลกรัม ซึ่งบรรจุกล่องกระดาษ 1,200 กล่อง กล่องละประมาณ3 ถึง 6 ลูกจากโจทก์ โดยโจทก์ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 เพื่อว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไปยังท่าเรือเมืองเกาซุงไต้หวัน เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ โดยบรรจุสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์แบบมีเครื่องทำความเย็นและบรรทุกไปบนเรือเดินทะเลเอ็นวายเค ซันไรส์ของจำเลยที่ 1 เมื่อขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือเมืองเกาซุง ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวเน่าเสียหายทั้งหมด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบการเป็นสำนักงานสาขาในประเทศไทยของจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองมีนายสุรศักดิ์ อุดมศิลป์ พนักงานของจำเลยที่ 1 กับนายฮั่นหลิม รัชตเศรษฐกุลกรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนในประเทศไทย ตามสัญญาการเป็นตัวแทนการให้บริการของสายการเดินเรือเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งแต่ประการใดจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนการให้บริการของสายการเดินเรือของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยจริงและตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.6 ซึ่งเป็นใบตราส่งที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าทางทะเล ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อออกใบตราส่งโดยระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอันเป็นการออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นการดำเนินงานของจำเลยที่ 2 อันเกี่ยวกับการรับขนสินค้าตามฟ้องได้ความว่ามีเพียงการจัดเตรียมตู้คอนเทนเนอร์ให้โจทก์นำไปบรรจุสินค้าและรับมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแล้วจากโจทก์นำบรรทุกลงเรือเอ็นวายเค ซันไรส์ของจำเลยที่ 1 จากนั้นเรือดังกล่าวเดินทางจากประเทศไทยไปยังไต้หวันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่งแต่ประการใด จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเลเท่านั้น หาใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประการต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งเพียงใดหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าการซื้อขายสินค้าตามฟ้องเป็นการซื้อขายที่ตกลงระบุราคาสินค้าบวกค่าระวาง(ซีแอนด์เอฟ) กรณีนี้ถือว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการนำสินค้าพ้นกราบเรือที่ท่าเรือบรรทุกสินค้าขึ้นตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ(Incoterms) ในเงื่อนไขซีแอนด์เอฟ ทั้งต่อมาเมื่อเรือเทียบท่าที่เมืองเกาซุงไต้หวัน ผู้ซื้อได้เรียกร้องให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ท่าเรือปลายทางส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ดังนั้น สิทธิทั้งหลายของโจทก์อันเกิดแต่สัญญารับขนส่งย่อมตกได้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ในการตกลงซื้อขายสินค้ากัน คู่สัญญาย่อมมีสิทธิตกลงเงื่อนไขการส่งมอบและเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้สำหรับการซื้อขายสินค้าตามฟ้องคดีนี้ แม้ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมายจ.10 จะระบุราคาสินค้ารวมค่าระวางหรือซีแอนด์เอฟ ดังที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์มีนายกิตติพงษ์ พิสุทธิศรัณย์ กรรมการบริหารของโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความว่า การซื้อขายดังกล่าวตกลงกันตามธรรมเนียมการซื้อขายผลไม้สด โดยโจทก์ผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ผู้ซื้อได้ตรวจคุณภาพจนพอใจแล้วผู้ซื้อจึงตกลงรับซื้อและชำระราคาให้ต่อไป ซึ่งในข้อนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นจึงฟังได้ว่าโจทก์กับผู้ซื้อสินค้าตกลงกันดังกล่าวจริง โจทก์จึงมีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องส่งสินค้าไปให้แก่ผู้ซื้อที่ท่าเรือเมืองเกาซุง ไต้หวัน เมื่อโจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ หากสินค้าได้เกิดเสียหายในระหว่างการขนส่งจนผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อและชำระราคาสินค้าโจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้น ทั้งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ได้ความว่าโจทก์ยังไม่ได้โอนใบตราส่งสำหรับสินค้าที่ขนส่งตามเอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.6 ให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง โดยโจทก์เพียงแต่ส่งมอบต้นฉบับใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ท่าเรือต้นทางเพื่อให้แจ้งไปยังตัวแทนผู้ขนส่งที่ท่าเรือปลายทางให้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งที่โจทก์ระบุไว้เท่านั้น ยังไม่ได้โอนใบตราส่งไปยังผู้ซื้อแต่อย่างใด และสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในปี 2541 จึงต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มิใช่กรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ดังที่จำเลยที่ 1กล่าวอ้างในอุทธรณ์ ดังนั้น แม้ผู้ซื้อจะได้เรียกร้องให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1ที่ท่าเรือปลายทางส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม สิทธิทั้งหลายของโจทก์ในฐานะผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนของทางทะเลนี้ก็ยังหาได้โอนไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งไม่ โจทก์ในฐานะคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1รับผิดชำระค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการที่สินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งรับมอบจากโจทก์ผู้ส่งของเสียหาย โดยเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ได้ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 52 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะความเสียหายเกิดจากสภาพสินค้าทุเรียนคายความร้อนและโจทก์ไม่ลดอุณหภูมิสินค้าให้เหมาะสมก่อนนำเข้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ในข้อนี้เห็นว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทุเรียนสดทางทะเลโดยตกลงกันว่าต้องควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาสินค้าขณะขนส่งที่ระดับ 14 องศาเซลเซียส และการระบายอากาศ 40 เปอร์เซ็นต์ จำเลยที่ 1ได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์แบบมีเครื่องทำความเย็นให้โจทก์นำไปบรรจุสินค้าวันที่ 30 เมษายน 2541 โจทก์นำตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์บรรจุสินค้าทุเรียนเรียบร้อยแล้วนำกลับมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ที่ท่าเรือแหลมฉบังวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 นำตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าบรรทุกลงเรือเอ็นวายเค ซันไรส์ และออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์ โดยระบุว่าจำเลยที่ 1 รับทราบเงื่อนไขการขนส่งที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิที่ 14 องศาเซลเซียส วันที่ 6 พฤษภาคม 2541 เรือเอ็นวายเค ซันไรส์ เดินทางถึงเมืองท่าเกาซุง ไต้หวัน ปรากฏว่าสินค้าทั้งหมดเน่าและขึ้นรา ผู้ซื้อจึงไม่ยอมรับสินค้า โจทก์ได้ให้บริษัทซีโปร มารีนเซอร์เวเยอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สำรวจความเสียหายพบว่าสินค้าได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถูกต้องในระหว่างการขนส่งส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบสภาพของตู้คอนเทนเนอร์และเครื่องทำความเย็นแล้ว ปรากฏว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ดี สามารถตั้งอุณหภูมิให้ลดต่ำถึงลบ 18 องศาเซลเซียส จึงส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์แก่โจทก์โดยตั้งอุณหภูมิภายในตู้ไว้ที่ 14 องศาเซลเซียสวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เวลา 00.50 นาฬิกา โจทก์นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้ากลับมามอบให้จำเลยที่ 1 จากนั้นมีการบรรทุกลงเรือเอ็นวายเคซันไรส์ โดยอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในวันดังกล่าววัดได้ว่าอยู่ในระหว่าง28 ถึง 30 องศาเซลเซียส คืนนั้นเรือเอ็นวายเค ซันไรส์ ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังและไปถึงท่าเรือเมืองเกาซุง ไต้หวัน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2541ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 ผู้รับตราส่งเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่าสินค้าเน่าเสียหายความเสียหายของสินค้าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการขนส่ง แต่เกิดจากสภาพของสินค้านั้นเองโดยโจทก์ไม่ได้ลดอุณหภูมิของสินค้าให้ได้ 14 องศาเซลเซียสก่อนบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์สินค้าทุเรียนนี้จึงคายความร้อน ทำให้อุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้นในระหว่างการขนส่ง เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงกันให้ควบคุมอุณหภูมิของสินค้าที่ขนส่งไว้ที่ระดับ 14 องศาเซลเซียสจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิของสินค้านี้ให้อยู่ในระดับดังกล่าวตามข้อตกลง สำหรับการควบคุมอุณหภูมิของจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความว่าเมื่อโจทก์ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ปรากฏว่าในวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เวลา 00.50 นาฬิกา มีการเสียบปลั๊กเครื่องทำความเย็นอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์วัดได้ 30 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในวันดังกล่าวอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ลดลงตามลำดับเป็น 29 และ28 องศาเซลเซียส และมีการถอดปลั๊กออกเมื่อเวลา 19.20 นาฬิกา ปรากฏตามบันทึกการตรวจสอบอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์เอกสารหมาย ล.13โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากนายสุรศักดิ์ อุดมศิลป์ พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในขณะปั้นจั่นยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นบรรทุกบนเรือตู้คอนเทนเนอร์มีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ปรากฏตามรายงานการบันทึกอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์บนเรือเอกสารหมาย ล.17 แผ่นที่ 2 สำหรับในวันต่อมาคือวันที่ 2 ถึง 7 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเรือเอ็นวายเค ซันไรส์เดินทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทยไปยังท่าเรือเมืองเกาซุง ไต้หวันก็ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.17 แผ่นที่ 2 ดังกล่าวว่า อุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละวันอยู่ที่ระดับ 34, 33, 33, 35, 33 และ 30 องศาเซลเซียสตามลำดับ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ให้อยู่ในระดับ 14 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงกับโจทก์แต่อย่างใด การที่ตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งอยู่ในระหว่างความดูแลของจำเลยที่ 1มีอุณหภูมิอยู่ในระดับ 30 ถึง 38 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับ 14 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงกว่าหนึ่งเท่าตัว นับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากซึ่งในข้อนี้นายสุรศักดิ์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า อุณหภูมิในระดับ 35 ถึง 38 องศาเซลเซียส สำหรับผลไม้สดถือว่าอุณหภูมิร้อนซึ่งเป็นการอบผลไม้ อาจทำให้ผลไม้สดเสียหายได้ ประกอบกับเมื่อปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหายโจทก์ได้ให้บริษัทซีโปรมารีน เซอร์เวเยอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์จำกัด ไปสำรวจความเสียหาย บริษัทดังกล่าวตรวจสอบแล้วพบว่าสินค้าขึ้นราและเน่าเสียหายและมีความเห็นว่าสินค้าเสียหายเนื่องมาจากการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถูกต้องในระหว่างการขนส่งตามรายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.8 ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าความเสียหายเกิดจากสภาพของสินค้าเอง โดยโจทก์ไม่ได้ลดอุณหภูมิของสินค้าให้ได้14 องศาเซลเซียส ก่อนบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในระหว่างการขนส่งนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายประเสริฐ งามไสว เจ้าของโรงงานบรรจุทุเรียนเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกที่จังหวัดจันทบุรีเบิกความว่า พยานมีประสบการณ์และความชำนาญเกี่ยวกับทุเรียนมา20 ปี เป็นผู้รับบรรจุทุเรียนให้โจทก์ โดยก่อนบรรจุจะใช้ลมเป่าทุเรียนทำความสะอาดแล้วนำไปชุบน้ำยากันเชื้อรา จากนั้นจะนำไปผึ่งโดยใช้พัดลมขนาดใหญ่หลายเครื่องเป่าให้แห้งซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ลดอุณหภูมิของทุเรียนตามสภาวะอากาศแวดล้อมด้วย และเมื่อบรรจุทุเรียนเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปิดเครื่องทำความเย็นแล้วในเบื้องต้นอุณหภูมิจะอยู่ประมาณ 26 ถึง 30 องศาเซลเซียส แล้วจะลดลงตามลำดับ พยานรับบรรจุทุเรียนเข้าตู้คอนเทนเนอร์มาแล้วนับพันตู้ ก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนฝ่ายจำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1ดำเนินกิจการและโฆษณาการดำเนินกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์รักษาความเย็นตามเอกสารหมาย ล.25 จึงน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับการขนส่งผลไม้สดดี และปรากฏว่าเมื่อรับสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1ทราบดีอยู่แล้วว่าสินค้าที่รับขนส่งจากโจทก์เป็นทุเรียนสดซึ่งจะต้องควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 14 องศาเซลเซียสตามข้อตกลง การที่จำเลยที่ 1ได้รับมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าไว้จากโจทก์ โดยมิได้อิดเอื้อนหรือโต้แย้งแต่ประการใด ทั้งที่ปรากฏว่าในขณะนั้นตู้คอนเทนเนอร์มีอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียสก็ตาม แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีเครื่องทำความเย็นสามารถปรับอุณหภูมิของสินค้าให้ลดลงมาได้ตามข้อตกลง ดังที่นายสุรศักดิ์พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลยที่ 1 สามารถตั้งอุณหภูมิได้ถึงลบ 20 องศาเซลเซียส และในกรณีที่นำสินค้าที่มีอุณหภูมิสูงเข้าไปไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งสินค้าดังกล่าวจะมีอุณหภูมิตามที่ตั้งไว้ในตู้คอนเทนเนอร์นั้น นอกจากนี้ยังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.17 ว่า จำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์รายอื่นอีก 16 ตู้ โดยมีข้อตกลงการรักษาอุณหภูมิระหว่าง13 ถึง 16 องศา แต่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 ตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ก็มีอุณหภูมิสูงระดับ 34 ถึง 38 องศา ทั้งตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1ก็ได้ความว่า สินค้าทุเรียนในตู้คอนเทนเนอร์อื่นที่ขนส่งพร้อมกับสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายทำนองเดียวกันอีก 15 ตู้ จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่าสินค้าจะคายความร้อนจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในระหว่างการขนส่งดังข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เหตุที่สินค้าตามฟ้องเน่าเสียหายเกิดจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าในระหว่างการขนส่งให้อยู่ในระดับ14 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงในการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เสียหายและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดข้อนี้โจทก์มีนายกิตติพงษ์ พิสุทธิศรัณย์ กรรมการของโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบพยานเอกสารว่า โจทก์ส่งสินค้าทุเรียนสดไปจำหน่ายแก่บริษัทกลิทเทอร์ เจม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ซื้อที่ไต้หวันในราคาค่าสินค้า 25,800 ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับค่าขนส่ง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯแล้วเป็นราคาขายจำนวน 28,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.10 คิดคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันฟ้องที่ 37.63 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงิน 1,083,744 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ไม่ได้โต้แย้งว่าราคาดังกล่าวไม่ถูกต้องหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดังกล่าวคิดเป็นเงินบาทสูงเกินสมควรแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าราคาสินค้าเป็นเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อสินค้าเสียหายทั้งหมดโดยเกิดขึ้นจากปฏิบัติผิดสัญญารับขนของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1ไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากการขนส่งสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ถือว่าเป็น 1 หน่วยการขนส่ง นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 59(1) บัญญัติว่าในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งและข้อเท็จจริงปรากฏว่าในใบตราส่งสินค้าตามฟ้องเอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.4 มีการระบุว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นทุเรียนสดจำนวน 1,200 หีบห่อ อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ จึงต้องถือว่าสินค้าที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,200 หน่วย มิใช่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์เป็น 1 หน่วย การขนส่งดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ และเมื่อคำนวณข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 58 วรรคหนึ่ง แล้วได้เป็นจำนวนข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการคิดคำนวณตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัม โดยสินค้ามีน้ำหนักสุทธิ 12,000 กิโลกรัม จึงคิดเป็นเงินเพียง 360,000 บาทต้องถือจำนวนข้อจำกัดความรับผิดจำนวนที่สูงกว่าคือ 12,000,000 บาทตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อจำกัดความรับผิดว่ามีเพียง 360,000 บาทไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อราคาสินค้าที่เสียหายมีเพียง 1,083,744 บาทดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือเอาตามราคาสินค้าที่เสียหายนั้นตามมาตรา 58 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 1,083,744บาท พร้อมดอกเบี้ยในหนี้เงินนี้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เกิดความเสียหายจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,163,895 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินจำนวน 1,083,744 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2