แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119(2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ หมายถึง ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายโดยรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่นายจ้างด้วย การที่พนักงานแผนกซ่อมบำรุงไปรายงานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานว่าเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียมีเสียงดังผิดปกติ แต่โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดู ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง จึงไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการละเลยต่อหน้าที่การงานอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกซ่อมบำรุงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนเมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,860 บาท และค่าชดเชยจำนวน 56,400 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งการปฏิบัติงานเพื่อความเหมาะสมแต่โจทก์ไม่ยอมรับทราบ เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายหลักชัย กิตติพล เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนจำเลยได้ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2539 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเดือนละ9,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโดยกล่าวหาว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อพนักงานแผนกซ่อมบำรุงไปตรวจเช็คเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียตามตารางการตรวจเช็คแล้วพบว่ามีเสียงดังผิดปกติ จึงรายงานให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์ไม่ได้พูดอะไรและไม่ได้ไปดู จนกระทั่งพนักงานดังกล่าวเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดความเสียหายจึงหยุดการเดินเครื่อง โจทก์จึงสั่งให้พนักงานไปถอดออกมาซ่อม แม้จะฟังว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่การงานของหัวหน้างาน แต่ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์มีเจตนาทำให้เครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียของจำเลยได้รับความเสียหายถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน56,400 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,860 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า การที่พนักงานแผนกซ่อมบำรุงไปตรวจเช็คเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียพบว่ามีเสียงดังผิดปกติ จึงรายงานให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดู จนกระทั่งพนักงานดังกล่าวเห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดความเสียหาย จึงหยุดเครื่อง แล้วโจทก์จึงสั่งให้พนักงานไปถอดมาซ่อมอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยเคร่งครัดการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119(2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 นั้น หมายถึง ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างกระทำโดยรู้ถึงผลเสียหายที่เกิดแก่นายจ้าง การที่พนักงานแผนกซ่อมบำรุงไปรายงานโจทก์ว่าเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียมีเสียงดังผิดปกติ แต่โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดูนั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง การกระทำของโจทก์จึงมิใช่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานเป็นการละเลยต่อหน้าที่การงานอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยเคร่งครัดถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสุดท้าย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง