แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้ลงข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์และหมิ่นประมาท จึงเป็นความผิดเกี่ยวพันกันโดยความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24(2) แม้จำเลยที่ 1 จะให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตั้งอยู่แขวงป้อมปราบเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร อันเป็นความผิดเกิดในกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่หนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่ 2ลงข้อความนั้นออกวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ซึ่งรวมทั้งจังหวัดปทุมธานี อันถือว่าความผิดได้เกิดในจังหวัดปทุมธานีด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22และมาตรา 24 แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่ 2ก็ไม่มีผลทำให้ศาลจังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าโจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย บริหารงานองค์การดังกล่าวในลักษณะไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการผลิตนมมีการทยอยซื้อหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้อยู่ในอำนาจของโจทก์ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้บุคคลโดยทั่วไปเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ทุจริตคดโกง ฉ้อฉลโดยการอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสดงหาประโยชน์โดยมิชอบความจริงโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และตามกฎระเบียบข้อบังคับขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยตลอดมาการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 วางแผนจะปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำขอความที่จำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ดังกล่าวลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2535ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจำเลยที่ 2 รู้และเข้าใจดีกว่าผู้อ่านข้อความจะต้องเข้าใจว่าโจทก์กระทำการโดยทุจริตและฉ้อฉลต่อหน้าที่ อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป เหตุเกิดที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร ตำบลขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีและท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในวันนัดพร้อม ทนายโจทก์แถลงว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย นัดฟังคำพิพากษา ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กล่าวใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่ายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2กระทำความผิดร่วมกัน ท้องที่ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 1 มีที่อยู่นอกเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดปทุมธานี)ที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ลงข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์หมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2535 ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย กรณีตามคำฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดเกี่ยวพันกันโดยความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24(2) ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 จะให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตั้งอยู่แขวงป้อมปราบเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร อันความผิดเกิดในกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่จำเลยที่ 2 ลงข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์นั้นออกวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรซึ่งรวมทั้งจังหวัดปทุมธานี อันถือว่าความผิดได้เกิดในจังหวัดปทุมธานีด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 22 และมาตรา 24 ศาลจังหวัดปทุมธานีมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ก็หามีผลทำให้ศาลจังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปไม่”
พิพากษายืน