คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9003/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เด็กหญิง ว. ผู้เสียหายขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ ออกจากบ้านของบิดามารดาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2538 จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2538โดยจำเลยได้พรากผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร ทำให้ปราศจากเสรีภาพและกระทำชำเราโดยผู้เสียหายมิได้สมัครใจไปกับจำเลย การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านญาติจำเลยที่ตำบลทับปริกอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ แล้วกระทำชำเราผู้เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยได้ปิดประตูขังผู้เสียหายไว้ในห้อง รุ่งขึ้นจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปบ้านญาติจำเลยที่บ้านควนพล ตำบลไทรทองอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนำผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องตลอดมา ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2538แม้การที่จำเลยนำผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บ้านญาติของจำเลยหลายแห่งเป็นเวลานานนับ 10 วัน จะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากความประสงค์เดียวกับการกระทำชำเราผู้เสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยนำผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยปิดประตูขังไว้ในห้องตลอดมา ถือได้ว่าเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานกระทำชำเราซึ่งเสร็จเด็ดขาดไปแล้วหาใช่เป็นกรรมเดียวกันไม่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 วรรคหนึ่ง,310 วรรคหนึ่ง และ 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กหญิงวิมลทิพย์ ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนายวิสัน ผู้เสียหายที่ 2 และนางติ้น ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง เพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปด้วย จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 โดยบังคับผู้เสียหายที่ 1 ให้อยู่ภายในบ้านห้ามมิให้ออกไปภายนอก หากขัดขืนจะประทุษร้ายต่อชีวิต เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องจำยอมอยู่ภายในบ้านอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ปราศจากเสรีภาพในร่างกายระหว่างพรากและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของตนจนสำเร็จความใคร่หลายครั้ง ทั้งนี้โดยจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 310, 317

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 1 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง และมาตรา 310 วรรคหนึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 5 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีแล้ว เป็นจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเด็กหญิงวิมลทิพย์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ ออกจากบ้านของนายวิสัน และนางติ้น ผู้เป็นบิดามารดาและเป็นผู้เสียหายที่ 2 และ ที่ 3ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2538 จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2538

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร ทำให้ปราศจากเสรีภาพและกระทำชำเราตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความเป็นประจักษ์พยานว่า หลังจากผู้เสียหายที่ 1 เลิกการแข่งขันกีฬาแล้วได้พบจำเลยบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเขาพนม จำเลยรับอาสาพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งบ้าน แต่กลับขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วไปทางอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านหลังหนึ่งโดยจับมือลากผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในบ้านดังกล่าวซึ่งไม่มีผู้ใดอยู่ จากนั้นจำเลยใช้กำลังกอดปล้ำถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 1 แล้วถอดเสื้อผ้าของจำเลยจนหมด จำเลยใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ชักเข้าชักออกอยู่นาน 2 นาที จนกระทั่งสำเร็จความใคร่ แล้วจำเลยขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้ในห้องโดยจำเลยออกไปข้างนอก เมื่อจำเลยกลับมาใหม่ก็นอนในห้องเดียวกัน รุ่งเช้าจำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ขับพาไปบ้านญาติของจำเลยที่บ้านควนพล ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยควบคุมผู้เสียหายที่ 1 โดยปิดประตูห้องเมื่อผู้เสียหายที่ 1 อาบน้ำหรือรับประทานอาหารจำเลยจะเป็นผู้ดูแลตลอดเวลา และใช้กำลังข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ทุกคืน คืนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 25 สิงหาคม 2538 เห็นว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เป็นเด็กหญิงอายุเพียง 14 ปีเศษ ให้การต่อร้อยตำรวจโทประจักษ์ รอดการทุกข์ พนักงานสอบสวนในทันทีภายหลังเกิดเหตุ ยืนยันว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราและหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีเหตุผลสอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนเป็นลำดับ และผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยอีกทั้งเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของผู้เสียหายที่ 1 เอง คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังได้อนึ่งแม้จะปรากฏจากรายงานชันสูตรของแพทย์ เอกสารหมาย จ.2 ว่าไม่พบเชื้ออสุจิในช่องคลอดของผู้เสียหายที่ 1 แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ชำระล้างร่างกายก่อนเข้าตรวจร่างกายจึงทำให้ไม่พบเชื้ออสุจิ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 พรากผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร ทำให้ปราศจากเสรีภาพและกระทำชำเรา หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจไปกับจำเลยตามที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1จะมีอายุไม่ครบ 15 ปี นั้น เห็นว่า การที่จำเลยอ้างว่าเคยไปเที่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ผู้เสียหายที่ 1 มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญา ความคิดอ่านที่ดี บุคลิกความเป็นอยู่ รูปร่างหน้าตาการแต่งตัวเป็นผู้ใหญ่มาตลอดนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกินกว่า 15 ปี อีกทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่าการที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 แล้วกระทำชำเราเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังอีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากกระทำผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านญาติจำเลยที่ตำบลทับปริก อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยได้ปิดประตูขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้ในห้อง รุ่งขึ้นจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านญาติจำเลยที่บ้านควนพล ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนำผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขังไว้ในห้องตลอดมา ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2538 ดังนี้ แม้จะฟังได้ว่าการที่จำเลยนำผู้เสียหายที่ 1 ไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บ้านญาติของจำเลยหลายแห่งเป็นเวลานานนับ 10 วัน จะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากความประสงค์เดียวกับการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำผู้เสียหายที่ 1 ไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยปิดประตูขังไว้ในห้องตลอดมานั้นถือได้ว่าเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานกระทำชำเราซึ่งเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว หาใช่เป็นกรรมเดียวกันไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share