แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ว่าสามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินบริคณห์ให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 นั้น แม้ทรัพย์สินตามพินัยกรรมจะมีค่าไม่เกินสินบริคณห์ส่วนของตนก็ตาม แต่ถ้ายังไม่ได้มีการแบ่งทรัพย์สินบริคณห์ระหว่างกัน ทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็ยังเป็นสินสมรสซึ่งสามีหรือภริยายังมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรค 2 พินัยกรรมนั้นก็มีผลให้ทรัพย์ตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมเพียงตามส่วนของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น
โจทก์ตั้งฐานฟ้องเป็นเรื่องเรียกทรัพย์ตามพินัยกรรม ไม่ได้ขอให้ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด และจำเลยก็ต่อสู้ว่าพินัยกรรมนั้นปลอม เจ้ามรดกไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ จึงถือว่าการที่จำเลยไม่ยอมส่งทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นการละเมิดมิได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยหรือค่าเสียหาย
ข้อเท็จจริงใดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกามีอำนาจให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่ได้.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2509).
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
คดีแรก โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรนายเหล่เจ้ามรดก เมื่อนายเหล่ตายจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว จึงขอให้แบ่งมรดกของนายเหล่ให้โจทก์เป็นเงิน ๒,๘๓๐,๐๘๓.๓๓ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่บุตรนายเหล่ตามกฎหมาย และแม้จะใช่นายเหล่ก็ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยแล้ว
คดีที่สอง โจทก์ฟ้องว่านายเหล่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองแต่ผู้เดียวไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ตามพินัยกรรม และโดยที่จำเลยที่ ๒ ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ เรียกเอาทรัพย์ส่วนของโจทก์ตามพินัยกรรมมาขอแบ่งด้วย จึงขอให้แสดงว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ให้ระงับการขอแบ่งของจำเลยที่ ๒ ที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนของโจทก์ และขอให้จำเลยที่ ๑ ใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่นายเหล่ตาย จนกว่าจะส่งมอบทรัพย์ให้โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธเฉพาะจำเลยที่ ๑ ต่อสู้ด้วยว่านายเหล่ไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์อันเป็นสินสมรสให้โจทก์โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก และให้ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องในสำนวนหลังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่ไม่คิดดอกเบี้ยให้เพราะอยู่ในระหว่างโต้เถียงกันว่าทรัพย์มรดกนี้จะตกได้แก่ผู้ใด
โจทก์ทั้งสองสำนวนและนางแป้นจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนและนางแป้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านายเหล่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ ๒ ฉบับ ฉบับแรกทำวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๗๙ และฉบับหลังทำวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๗ คงมีปัญหาว่าพินัยกรรมฉบับหลังเป็นการยกสินบริคณห์ระหว่างนายเหล่และนางแป้นจำเลยให้เกินกว่าส่วนของนายเหล่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๗๗ หรือไม่ และมีผลเพียงใด ปรากฏว่านายเหล่และนางแป้นจำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แม้นายเหล่จะตายภายหลังที่ได้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ก็ตาม การแบ่งสินสมรสก็ต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย คือ นายเหล่ได้ ๒ ส่วน นางแป้นจำเลยได้ ๑ ส่วน แม้จะฟังว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลังมีค่าไม่เกินสินบริคณห์ส่วนของนายเหล่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๗ ก็ตาม แต่คดีนี้ยังมิได้มีการแบ่งสินบริคณห์ระหว่างนายเหล่และนางแป้นจำเลย ทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับนี้ยังเป็นสินสมรสที่นางแป้นจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ๑ ใน ๓ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า นายเหล่จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่โจทก์สำนวนหลังทั้งหมดโดยนางแป้นจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๑ วรรค ๒ ทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับนี้จึงตกได้แก่โจทก์สำนวนหลังเพียง ๒ ใน ๓ ตามส่วนของนายเหล่เท่านั้น อีก ๑ ใน ๓ เป็นสินสมรสส่วนของนางแป้นจำเลย
นอกจากนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าพินัยกรรมของนายเหล่ฉบับแรกถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังแล้ว ฉะนั้น ทรัพย์สินบริคณห์ส่วนของนายเหล่นอกจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับหลังเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมของนายเหล่ต่อไป โจทก์ในสำนวนแรกมีสิทธิในมรดกนี้ด้วยผู้หนึ่ง แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกของนายเหล่ที่ตกทอดไปยังทายาทมีจำนวนเท่าใด จึงควรให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเสียก่อน
ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายที่โจทก์สำนวนที่ ๒ ขอให้นางแป้นจำเลยชำระให้นั้น เห็นว่า โจทก์ตั้งฐานฟ้องเป็นเรื่องเรียกทรัพย์ตามพินัยกรรม ไม่ได้ขอให้ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด และจะถือว่าการที่นางแป้นจำเลยไม่ยอมส่งทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นการละเมิดมิได้ เพราะนางแป้นจำเลยต่อสู้อยู่ว่าพินัยกรรมนั้นปลอม และนายเหล่ไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์นั้นให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่คิดให้นั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในสำนวนแรกว่าทรัพย์มรดกของนายเหล่นอกจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๗ มีเหลือสุทธิตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมเท่าใด แล้วพิพากษาแบ่งให้นายสำเภาหรือฮะโจทก์กับนางแป้นจำเลยตามส่วนที่มีสิทธิจะได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมตามนัยแห่งคำพิพากษานี้ ส่วนทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๗ ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์สำนวนหลังกับนางแป้นจำเลยก่อน หากไม่ตกลงกันให้ขายทอดตลาด ได้เงินเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์สำนวนนี้ ๒ ใน ๓ อีก ๑ ใน ๓ เป็นส่วนของนางแป้นจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.